X

ตรัง เลียงผาหลงลงจากภูเขาเข้าสวนปาล์มชาวบ้าน

พบเลียงผา เพศเมีย ลงจากภูเขาเขตเทือกเขาบรรทัด หลงเข้าสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ระดมกำลังยิงลูกดอกยาสลบจับตัวนำไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา นำไปเป็นแม่พันธุ์ต่อไป เนื่องจากเลียงผาเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่โชคดีเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ผืนป่าอุดมสมบูรณ์เจ้าหน้าที่สำรวจพบปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 30 -40 ตัว  เตรียมทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในการร่วมกันดูแลรักษาและอนุรักษ์ต่อไป

วันที่ 7 เมษายน 2564  เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)  (สบอ.5) นำโดยนายทรงชัย ทองบุญยัง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ  ,สัตวแพทย์หญิงสลิลธร ทองสงวน นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)  (สบอ.5)  ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน หมู่ 2 ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ร่วมกันปิดล้อม เพื่อจับเลียงผา หรือกูรำ โครำ สีดำ ที่คาดว่าเดินลงมาจากภูเขาเทือกเขาบรรทัด ซึ่งไม่แน่ชัดว่าลงมาจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ไปประมาณ 10 กม. หรือลงมาจากเขตอุทยานเขาปู่ -เขาย่า ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 5 กม.โดยชาวบ้านพบเลียงผาตัวดังกล่าว พลัดหลงเข้ามาเดินในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และภายในหมู่บ้าน หมู่ 2 ต.เขากอบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้แจ้งผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ พบว่าเลียงผาตัวดังกล่าวได้เดินวนเวียนและหลบซ่อนตัวหากินหญ้า ใบไม้อยู่ภายในสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมัน หลังร้านส้มตำเจ๊สุ บริเวณสี่แยกอันดามัน จึงได้ระดมกำลังกันปิดล้อม พร้อมประสานเจ้าหน้าที่นำชุดยิงลูกดอกยาสลบ จากจังหวัดกระบี่ และกรงสำหรับการเคลื่อนย้าย จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา  จากนั้นได้ร่วมกันปิดล้อมพื้นที่ โดยใช้ตาข่ายมาวางกั้นป้องกันไม่ให้เลียงผาวิ่งหนีขึ้นไปถนนใหญ่ หวั่นจะถูกรถชน โดยเจ้าหน้าที่พยายามเข้าให้ใกล้ที่สุด เพื่อจะได้ใช้อาวุธปืนยิงยาสลบ ทั้งนี้ ใช้เวลายาวนานกว่าไม่ต่ำกว่า 3 ชม.กว่าทุกอย่างจะพร้อมและเริ่มดำเนินการได้สำเร็จ จากนั้นได้ช่วยกันหามเลียงผาที่อยู่ในอาการสลบออกมาจากป่า  โดยพบว่าเป็นเลียงผา เพศเมีย สีดำ อายุประมาณ 2-3 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ น้ำหนักประมาณ 50 กก. จากนั้นสัตว์แพทย์ได้ตรวจร่างกาย วัดคลื่นหัวใจ วัดความดัน พร้อมฉีดยาบำรุงร่างกาย  ให้น้ำเกลือ และเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโรค  ซึ่งการเก็บตัวอย่างเลือดดังกล่าว ป้องกันการนำเชื้อจากป่าเข้าไปติดสัตว์ป่าตัวอื่นๆที่อยู่ในความดูแล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวขึ้นรถกลับไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงาต่อไป เพื่อนำไปเป็นแม่พันธุ์ต่อไป เนื่องจากเลียงผา ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 15  สัตว์ป่าสงวนและใกล้สูญพันธุ์ โดยคาดว่าเหลืออยู่ในเมืองไทยประมาณ 500 -1,000 ตัว  และอาศัยอยู่ในพื้นที่มีขอบเขตจำกัด ตามภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน

นายทรงชัย ทองบุญยัง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)  (สบอ.5)   กล่าวว่า  สัตว์ป่าตัวนี้จากการตรวจสอบพบว่า เป็นสัตว์ป่าสงวน ชนิดเลียงผา หรือ โครำ คูรำ  ที่ชาวบ้านรู้จักกันโดยทั่วไป และจากการสอบถามจากชาวบ้าน พบว่า เลียงผาตัวนี้ได้เข้ามาอาศัยในพื้นที่ 1-2 วันแล้ว น่าจะมาจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย ซึ่งอยู่ห่างไปจากจุดนี้ประมาณ 10 กิโลเมตร หรืออีกนัยยะหนึ่งน่าจะมาจากอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ซึ่งห่างจากจุดนี้ ประมาณ 4-5 กิโลเมตร สันนิฐานไว้เป็น 2 สถานที่นี้ จากที่ได้เห็นและจากการสำรวจในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพรายพบว่า เลียงผามีอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 30-40 ตัว โดยชาวบ้านพบทั้งที่มีขนสีแดง และขนสีดำ ซึ่งเป็นลักษณะขนที่เกิดตามธรรมชาติไม่ได้แบ่งแยกประเภทกันแต่อย่างใด  ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า จำนวนของเลียงผาจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย ปรากฏว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งลักษณะของการเพิ่มนี้ สาเหตุจากการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น อาจจะมาจากการที่พื้นที่ไม่ถูกรบกวน และมีที่อยู่ที่อาศัยและที่ผสมพันธุ์ และการล่าของคนไม่มี โดยชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมากไม่มีการล่า ทำให้เลียงผาเพิ่มจำนวนประชากรสูงขึ้น  ซึ่งหลังที่จับเลียงผาได้แล้ว เนื่องจากไม่ทราบแหล่งที่มาที่แน่ชัดของ 2 แหล่งนี้  การที่จะนำเข้าไปปล่อยเลยทีเดียวอาจจะไม่เหมาะอาจจะไม่เข้ากันได้ และจากโครงการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จ.พังงา มีการเพาะเลี้ยงเลียงผาชนิดนี้อยู่ และจะนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ  ซึ่งตัวนี้ ถ้าเป็นเพศผู้จะยิ่งดี เพราะจะได้นำไปพ่อพันธุ์ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา หากได้พ่อพันธุ์จากฝั่งนี้ไปก็จะดีสายเลือดจะไม่ชิดกัน สัตว์ป่าจะแข็งแรงขึ้น และเมื่อเป็นเพศเมีย ก็จะนำไปเป็นแม่พันธุ์ต่อไปด้วย เพราะทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ถือว่าขาดแคลน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะต้องเร่งเพาะขยายพันธุ์ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และที่ผ่านมา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง เคยเจอ กระทิง  พื้นที่รอยต่อ จ.กระบี่ และ จ.พังงา และล่าสุดมาเจอเลียงผาที่นี่ ซึ่งถือเป็นข่าวดีได้พบเห็นตัวเป็นๆ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางเจ้าหน้าที่เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ และเฝ้าระวังรักษาเลียงผา และสัตว์ป่าอื่นๆในพื้นที่ต่อไป โดยจะดึงประชาชน ผู้นำชุมชน และเยาวชนในพื้นที่มาร่วมกันดูแล และเฝ้าระวังพื้นที่ต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน