X

ตรัง – สมาชิกชุมนุมสหกรณ์ตรังหวั่นแพ้คดีถูกจ่ายหนี้ 50 ล้าน

ตรัง – อดีตคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ชุดที่ 37 ร้องเรียนถูกนายทะเบียนออกคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 โดยอ้างผิดข้อบังคับสหกรณ์กรณีไม่มีหนังสือเชิญประชุมจากประธานชุมนุม รองประธาน หรือผู้จัดการชุมนุม ทั้งนี้ ในห้วงเวลาดังกล่าวว่างเว้นไม่มีตำแหน่งดังกล่าวในชุมนุมสหกรณ์ฯ ส่งผลให้การยื่นอุทธรณ์ กรณีเจ้าของเงินฟ้องเรียกเงินคืนจากชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังจำนวน 50 ล้านบาท ที่อดีตผู้จัดการออกตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม โดยไม่ผ่านมติคณะกรรมการชุมนุมฯเป็นโมฆะ หวั่นชุมนุมสหกรณ์ฯแพ้คดี เพราะไม่ได้ต่อสู้ ต้องใช้หนี้แทนอดีตผู้จัดการและพวกที่ร่วมโกง หลังถูกเจ้าของเงินฟ้องเรียกเงินคืน วอนกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งแก้ปัญหา หากไม่ดำเนินการและเป็นผลให้ชุมนุมสหกรณ์ต้องใช้หนี้แทนอดีต ผจก.ผู้ทุจริต จะเคลื่อนไหวแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่

วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ห้องประชุมสำนักงานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง นายสมพร เต็งรัง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ชุดที่ 37 เรียกประชุมอดีตคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังทั้ง 15 คน หลังจากสหกรณ์จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นนายทะเบียน สั่งเพิกถอนการประชุมเลือกคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นผลทำให้การดำเนินกิจการของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังต้องหยุดชะงัก ทั้งธุรกิจรับฝากยาง ธุรกิจซื้อขายยางในตลาดกลาง โดยสภาพปัจจุบันเหมือนเป็นโกดังร้าง ไม่มีเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่มีการจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้กระทำไว้ ในห้วงระยะเวลาที่ทำหน้าที่ต้องตกเป็นโมฆะ ส่งผลต่อคดีความต่างๆที่ทางชุมนุมสหกรณ์ได้แจ้งความเอาผิดกับนางนิตรดา อาจเส็ม อายุ 45 ปี อดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ และพวกที่ร่วมกันทุจริตขายยาง จนธุรกิจเจ๊งเสียหายมานับตั้งแต่ปี 2561 มาจนถึงขณะนี้มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และคดีความต่างๆกำลังจะหมดอายุความไม่มีคณะกรรมการต่อสู้คดี รวมทั้งคดีตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม จำนวน 5 ฉบับๆละ 10 ล้านบาท รวมจำนวน 50 ล้านบาท ที่นางนิตรดาออกตั๋วสัญญาใช้เงินปลอมแล้วนำไปกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยไม่ผ่านมติของคณะกรรมการชุมนุม ขณะนี้ถูกบุคคลภายนอกเจ้าของเงินแจ้งความเอาผิดให้ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังเป็นผู้ชดใช้เงินดังกล่าว โดยเบื้องต้นอัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง แต่ขณะนี้เจ้าของเงินรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ดังกล่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 แต่สหกรณ์จังหวัดมาออกคำสั่งยกเลิกมติการประชุมดังกล่าว ทำให้การคัดค้านคำอุทธรณ์ดังกล่าวต้องเป็นโมฆะไปด้วย ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะนัดพิจารณาในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ทำให้สหกรณ์สมาชิกชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ต่างกังวลใจ เนื่องจากชุมนุมสหกรณ์เป็นของเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆเป็นผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ หากชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังแพ้คดี ต้องชดใช้เงินคืนเจ้าของเงิน แทนอดีตผู้จัดการและพวก ที่ร่วมทุจริต จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา ให้เกิดความเสียหายต่อชุมนุมสหกรณ์มากยิ่งขึ้น จนยากจะฟื้นฟู ทั้งนี้ หลังมีการตรวจสอบพบการทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้น และมีการแจ้งความดำเนินคดีกันมานั้น ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังต้องประสบปัญหาอย่างหนักในการดำเนินธุรกิจตลอดมา แม้จะมีการเลือกคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหามาแล้ว 1 ชุด แต่พบว่าไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือในการกอบกู้กิจการจากหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เท่าที่ควร

ด้านนายสมพร เต็งรัง อดีตประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า คณะกรรมการตนเอง เป็นชุดที่ 37 ที่สมาชิกได้ลงชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เพื่อเลือกคณะกรรมการจำนวน 15 คน มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินกิจการของชุมนุม ฯ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์ โดยสหกรณ์สมาชิกเป็นผู้ถือหุ้น และถือเป็นทรัพย์สินของเกษตรกร โดยชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังประสบปัญหาทางธุรกิจ เนื่องจากถูกนางนิตรดา อาจเส็ม อายุ 45 ปี อดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ ร่วมกับพวกทุจริตขายยางในชุมนุม สร้างความเสียหายให้แก่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังประมาณ 300 ล้านบาท โดยถูกตรวจสอบพบเมื่อ ปี 2561 โดยอดีตผู้จัดการคนดังกล่าว ถูกไล่ออก และมีการแจ้งความดำเนินคดีตามมาหลายคดี หลังจากนั้นชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังก็ประสบปัญหาทางธุรกิจตามมาจนถึงปัจจุบัน และมีการเลือกคณะกรรมการชุมใหม่เข้ามากอบกู้กิจการ ก็ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือ หรือคำแนะนำ จากเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกำกับดูแล โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มากนักอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งว่างเว้นตำแหน่งผู้จัดการ และคณะกรรมการอีกครั้ง แต่คดีความต่างๆกำลังสิ้นสุดอายุความ และการดำเนินกิจการก็ชะงักงัน ทางสหกรณ์สมาชิกตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของชุมนุมสหกรณ์ที่แท้จริง ต้องเร่งแก้ปัญหา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก จึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกคณะกรรมการชุดตนเองขึ้นมา เพื่อเร่งขับเคลื่อนธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังให้เกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเพื่อการต่อสู้คดีความต่างๆดังกล่าว รวมทั้งคดีที่ที่อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง (เจ้าของเงิน) ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากชุมนุมสหกรณ์ตรัง เป็นเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากอดีตผู้จัดการชุมนุมฯคนดังกล่าว ร่วมกับพวกทุจริตขายยางในชุมนุม โดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม ฉบับละ 5 ล้าน จำนวน 10 ฉบับ รวมเงิน 50 ล้านบาท ไปกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยไม่ผ่านมติของคณะกรรมการชุมนุม ล่าสุด อัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้องชุมนุมสหกรณ์ แต่ถูกเจ้าของเงินนำคดีไปร้องอุทธรณ์กับศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อให้พิจารณาสั่งฟ้องชุมนุมสหกรณ์ เพื่อเอาเงินคืน ทั้งนี้ ชุมนุมฯต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่สมาชิกมาทราบเรื่องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 จึงมีการเรียกประชุมสมาชิกจนครบองค์ประชุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เพื่อเลือกกรรมการจำนวน 15 คน เพื่อเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหา จากนั้นก็ทำงานมาตามแผน ทั้งการต่อสู้คดีด้วยการยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ การทำธุรกิจรวบรวมยางของสมาชิก การชำระหนี้ตามแผน โดยระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หลังเข้ามาทำหน้าที่ สามารถรวบรวมยางได้มูลค่าสูงถึง 44 ล้านบาท สหกรณ์สมาชิกได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะการฝากยางทางชุมนุมสหกรณ์คิดค่าดำเนินการน้อย เมื่อเทียบกับพ่อค้าคนกลาง แต่คณะกรรมการฯทำงานมาได้เป็นเวลา 5 เดือน 15 วัน ปรากฏว่าว่าในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ถูกสหกรณ์จังหวัดตรัง ในฐานะนายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวทุกระเบียบวาระ โดยอ้างว่าการเรียกประชุมดังกล่าวผิดข้อบังคับสหกรณ์ เนื่องจากไม่มีหนังสือเชิญประชุมจากประธานชุมนุม รองประธาน หรือผู้จัดการชุมนุม ทั้งนี้ สมาชิกทั้งหมดรวมทั้งนายทะเบียนก็ทราบอยู่ว่าในห้วงเวลาดังกล่าว ไม่มีตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ไม่มีกำหนดเอาไว้ว่าในกรณีคณะกรรมการสหกรณ์ว่างลง ผู้ใดเป็นผู้เรียกประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกคณะกรรมการดังกล่าวของนายทะเบียน ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบธรรม แต่พวกตนใช้กฎหมายทั่วไปมาเรียกประชุม ซึ่งไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับใดๆทั้งสิ้น ที่สำคัญในวันประชุมดังกล่าว ก็มีเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์จังหวัดตรัง มานั่งเป็นสักขีพยานด้วย โดยที่ไม่ได้ทักท้วงในการประชุมแต่อย่างใด จึงถือว่ามติที่ประชุมดังกล่าวสมบูรณ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว เพราะระเบียบกำหนดไว้ว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้ตามลำดับ คือ ลำดับแรกใช้ตามจารีตประเพณี ลำดับที่สอง คือ ใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ลำดับสาม การใช้กฎหมายทั่วไป ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในการดำเนินการ โดยให้สมาชิกที่มีสิทธิ มีเสียง เป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้เข้าประชุม คิดเป็นมูลค่าหุ้น 61% และมีตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 2 คน คือ ผอ.กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ และ นิติกรของสหกรณ์จังหวัด เข้าร่วมด้วย ถือว่าชุมนุมสหกรณ์ทำชอบด้วยกฎหมาย แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กลับไม่ให้โอกาสกรรมการชุดนี้ ให้กรรมการเป็นโมฆะ มีการสั่งเพิกถอนสิทธิในวันที่ 12 มิ.ย.63 ตลอดเวลา 5 เดือน ที่กรรมการชุดนี้ทำงานนั้น ได้ก่อภาระผูกพันกับสมาชิก และองค์กรภายนอกไว้จำนวนมาก เมื่อกรมฯ เพิกถอนให้กรรมการชุดนี้เป็นโมฆะ เท่ากับขาดกรรมการที่จะไปต่อสู้ในชั้นอุทรณ์ อาจส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์แพ้คดีดังกล่าว โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ได้คำนึงถึงเลย อยางไรก็ตามในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ศาลอุทรณ์ได้นัดให้กรรมการไปศาล เพื่อต่อสู้คดี หากไม่มีกรรมการไปศาลได้ตามวันดังกล่าว โอกาสที่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดจะแพ้คดีสูง เท่ากับว่าชุมนุมสหกรณ์จะต้องจ่ายเงินคืนบุคคลภายนอกรายดังกล่าว จำนวน 50 ล้าน ตามตั๋วสัญญาใช้เงินปลอมที่อดีตผู้จัดการชุมนุมร่วมกับพวกทุจริตไป ทั้งนี้ หากทางชุมนุมสหกรณ์แพ้คดี ต้องใช้หนี้แทนอดีต ผจก.ผู้ทุจริต พวกตนจะแจ้งความและร้องเรียนเอาผิดกับนายทะเบียน หรือกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างแน่นอน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน