X

ตรัง ชาวสวนปาล์มตื่นตัวศึกษาการพัฒนาเพิ่มมูลค่าปาล์มด้วยตัวเอง

ตรัง – สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรังร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ร่วมกันหารือหัวข้อ  เพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยการเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำปาล์มน้ำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนด้านราคาให้แก่เกษตรกร เนื่องจากไม่มั่นใจด้านราคา

วันที่ 20 ธันวาคม 2562  ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง  สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาพบปะหารือ  เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำปาล์มน้ำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนด้านราคาให้แก่เกษตรกร  โดยมีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ตัวแทนสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน ตรัง กระบี่ และนครศรีฯ เกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตัวแทนการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง พาณิชย์จังหวัดตรัง เกษตรจังหวัดตรัง รวมทั้งตัวแทนสภาเกษตรกร  และเกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันเข้าร่วมประชุมกว่า 60 คน  นำโดย นายชัยฤทธิ์  ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง  และรองศาสตราจารย์สมชาย  ชูโฉม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์และการกีฬา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และตัวแทนบริษัทเอกชนที่ทำ MOU กับ มอ.

ทั้งนี้ มีการบรรยายเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของ มอ.กับการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปปาล์มน้ำ  การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน การจัดการสวนปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO และการนำเสนอผลงานวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ  การจัดการสวนเพื่อลดต้นทุนสวนปาล์มน้ำมันรวมถึงการผลิต เช่น    กระบวนการผลิตอาหารสัตว์จากกากปาล์มน้ำมันและวัสดุทางการเกษตร  การผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากปาล์มน้ำมัน เป็นน้ำมันปาล์มแดงและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพ  การผลิตถ่านกัมมันต์และน้ำส้มควันไม้จากทะลายปาล์ม กะลาปาล์มและชีวมวลทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เป็นข้อมูลแนวทางสำหรับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรและให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน  ซึ่งเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันทำด้วยตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มจากหลายส่วนของปาล์มน้ำมันรวมทั้งผลผลิต ลดปริมาณปาล์มน้ำมัน ลดการพึ่งพาโรงงาน ซึ่งเป็นของนายทุน สร้างอำนาจต่อรองด้านราคาให้เกิดความยั่งยืน  เป็นต้น  ทั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก 

   นางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ อุปนายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง  กล่าวว่า แม้ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันจะดีขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 5 บาท แต่ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ผ่านมาพบว่า  ชาวสวนเองไม่สามารถแก้ได้ จึงคิดว่าชาวสวนควรจะหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จึงมีแนวคิดที่จะทำอาชีพสวนปาล์มน้ำมันให้ยั่งยืน แต่ต้องการองค์ความรู้มาจัดการให้ครบวงจร จึงเชิญมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยที่สามารถรองรับการประกอบอาชีพสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนได้  ตั้งแต่เรื่องการจัดการสวนปาล์ม ด้วยการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ การทำสวนปาล์มเรื่องปุ๋ยเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงที่สุด โดย มอ.มีงานวิจัยที่เอากากปาล์มน้ำมันมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต การนำกากปาล์มน้ำมันไปทำเป็นอาหารสัตว์ เพราะส่วนใหญ่ชาวสวนจะเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย  ทางปาล์มสามารถเอาไปทำประโยชน์เป็นถ่านกัมมันต์ และในการเผาถ่านก็จะได้น้ำส้มควันไม้สำหรับไปใช้ทางการเกษตรอย่างอื่นเพิ่มอีก  รวมทั้งการนำผลปาล์มไปทำน้ำมันปาล์มแดง  ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสามารถทำเป็นแคโรทีนอยด์และวิตามินอี ทาง มอ.เขามีงานวิจัย ทางสมาคมจึงได้เชิญมอ.มาให้ความรู้เพื่อให้ชาวสวนปาล์มได้นำไปทำให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ  ซึ่งเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งจากสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ ,นครศรีฯ  เจ้าของเกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ทั้งนี้ ผลงานวิจัยแต่ละเรื่องเกษตรกรสามารถทำได้ โดยทางมอ.ก็จะผลิตเครื่องจักรที่เป็นขนาดเล็ก ที่ SME เข้าถึง และ มอ.ก็ผลการวิจัยทางตลาดมาแสดงด้วยครบถ้วน  ทั้งนี้ แม้ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันขณะนี้ราคาจะสูงกว่า 5 บาทต่อกก.แล้วก็ตาม แต่ก็วางใจไม่ได้  โดยเกษตรกรจะพอใจกับความสมดุลของราคามากกว่า แต่ว่าในปัจจุบันนี้ความสมดุลของราคาไม่ได้เกิดจากความเป็นจริงของปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ แต่มีกลไกที่เกษตรกรเข้าไม่ถึง ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องหาวิธีการช่วยเหลือตัวเอง จึงต้องหันไปทางผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน  

เช่นเดียวกับ นายชัยฤทธิ์  ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง   กล่าวว่า ชาวสวนปาล์มไม่ได้ดีใจกับราคาปาล์มที่สูงขึ้น  เพราะไม่ได้ยืนยันว่าราคาจะอยู่ได้ตลอด ทางสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง จึงได้เชิญนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาให้ความเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมัน  เช่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เป็นอุตสาหกรรมของชุมชน โดยมีงานวิจัยของ มอ.มาเป็นแนวทางในการพัฒนา ซึ่งหากทำได้ตามข้อมูลวิจัยของ มอ.ที่ทำ MOU กับบริษัทเอกชน จะเป็นการยกระดับด้านราคาของปาล์มน้ำมันให้ยั่งยืนให้ชาวสวน   ซึ่งสอดรับแนวทางเสนอแนะที่ชาวสวนปาล์มเสนอกับรัฐบาลตลอดมาเรื่องส่งเสริมการใช้ปาล์มภายในประเทศให้มาก ณ วันนี้นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมน้ำมันบี 10 และบี 20 ทางเลือกก็ถือว่าใช้น้ำมันในประเทศได้มากแล้วจนแทบจะผลิตไม่พอแล้ว แต่ราคาที่เกษตรกรได้รับก็ยังเป็นแค่ราคาพื้นฐานของวัตถุดิบเท่านั้น   ซึ่งหากพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวสวนปาล์มทำเองจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันได้มากมาย เช่น การผลิตเป็นไบโอทีนอยจะทำให้มูลค่าเพิ่มสูงเป็นเท่าตัว  ทั้งนี้ ผลงานที่วิจัยที่ มอ.นำเสนอชาวสวนสามารถทำได้โดยร่วมกันทำนามในนามกลุ่มวิสาหกิจ  โดยเฉพาะปาล์มมาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นปาล์มคุณภาพสามารถพัฒนาไปเป็นน้ำมันปาล์มแดงแคโรทีนอยด์และวิตามินอีที่มีคุณภาพสูงได้   ส่วนการส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 10  ในปัจจุบันนี้ ไทยเราต้องใช้น้ำมันวันละประมาณ 70 ล้านลิตร  เป็นน้ำมันบี 10 วันละประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน  การผลิตในขณะนี้ผลผลิตออกน้อยไม่ถึง 10% ของมวลรวมทั้งหมด  โดยปาล์มทำท่าจะขาดแคลน  ซึ่งทางชาวสวนเรียกร้องมานานว่าถ้ารัฐส่งเสริมน้ำมันบี 10 ได้ ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะหายไปในตลาด ส่วนนั้นบี 100 ขณะนี้ล่มสลายแล้ว เพราะว่าน้ำมันที่ผลิตบี 100 ขายให้กับน้ำมันบริษัทใหญ่แล้ว เพื่อนำไปผสมกับดีเซลเป็นบี 10  ทำให้น้ำมันบี 100 ขาดแคลน  ทำให้กลุ่มแบ่งปันที่เคยใช้เดือดร้อนไม่มีใช้ แต่ขณะนี้ราคาผลผลิตปาล์มมาสอดรับจึงพอรับได้  แต่อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อน้ำมันบี 10 ก็ไม่ยั่งยืน เชื่อว่าช่วงที่ผลผลิตออกมากราคาก็จะลงมาอีกแน่นอน  แต่ก็คงไม่ตกต่ำลงเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ถึง 2 บาทต่อกก.  อย่างไรก็ตาม หากจะให้ราคาเป็นธรรมกับเกษตรกร กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องควบคุมการซื้อเปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำ  18%  รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับสินค้าควบคุมและบริการ ก็น่าไม่ต่ำกว่า 4 บาท ต่อกก. ซึ่งชาวสวนก็น่าจะรับได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน