X

เปิดตำนาน” ยี่กอฮง “เทพโชคลาภองค์แรกแห่งสยาม  จากทายาท ตระกูลเตชะวณิช

เปิดตำนาน” ยี่กอฮง “เทพโชคลาภองค์แรกแห่งสยาม  จากทายาท ตระกูลเตชะวณิช

โดยได้เชิญชวนทุกท่านที่มีความศรัทธา ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างพิพิธภัณฑ์หัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยม ณ อุทธยานพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง  ณ  เลขที่ 888  ต.ไชยมงคล อ.เมือง จ.นครราชสีมา  โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานครั้งนี้ และยังมีวัตถุมงคลให้บูชากลับไปเป็นศิริมงคลอีกด้วย ในวัน เสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 นี้ เวลา 08.00 น.

รองหัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) มีชื่อจีนว่า “ยี่กอฮง” (二哥豐) หรือ “ตี้ยัง แซ่แต้”(鄭智勇) เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ พ.ศ. 2392 ท่านประกอบอาชีพค้าขาย และมีตำแหน่งเป็นนายอากรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 รวมอายุได้ 87 ปี

ประวัติ  ประวัติของ”ยี่กอฮง”นั้นเกิดในประเทศจีน เป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ใน พ.ศ. 2392 บิดาชื่อนายแต้ซีแซ กับนางเซียะ เมื่ออายุ 16 ปี ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยได้เข้าทำงานเป็นเสมียนโรงบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เล่ากี้ปิง) และตั้งปณิธานว่าจะประกอบอาชีพค้าขายในสยามตลอดชีวิต โดยตั้งหลักฐานอยู่ในพระนคร เปิดร้านค้าขายผ้าอยู่ที่หัวมุมสี่กั๊กพระยาศรี ด้านถนนบำรุงเมือง เมื่อค้าขายได้ระดับหนี่งจึงได้ตัดสินใจอยู่ในประเทศไทยถาวรตลอดชีวิต ได้ขยายกิจการค้าไปหลายจังหวัด เช่น กำแพงเพชร ตาก และเชียงใหม่ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ท่านประกอบอาชีพค้าขายจนสร้างโรงสีข้าว ประกอบธุรกิจส่งออก จนมีฐานะมั่นคง ตามประวัติเล่าไว้ว่า ท่านยี่กอฮง ได้มาปลูกบ้านอยู่ที่ย่านพลับพลาไชย หน้าวัดคณิกาผล ท่านยี่กอฮง ได้ประกอบกิจการค้าหลายอย่าง แต่ที่ได้สร้างฐานะให้ท่านจนรุ่งเรืองก็คือ การเป็นเจ้าภาษีโรงต้มกลั่นสุรา โรงบ่อนเบี้ย โรงหวยกอขอ ต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเลิกอากรบ่อนเบี้ย และหวยกอขอ ท่านจึงได้หันไปประกอบกิจการค้าอื่น ๆ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ท่านจึงมีความคิดที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ยี่กอฮงท่านได้มีส่วนในการบริจาคทรัพย์สินและได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้อย่างมากมาย เช่น ถนน, สะพานฮงอุทิศ สะพานนิยมนฤนาถ สะพานอนุวัตน์วโรดม, โรงเรียนวัดสะพานสูง (โรงเรียนโยธินบูรณะ), โรงเรียนป้วยเองหรือโรงเรียนเผยอิง เมื่อ พ.ศ. 2463, ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด, ศาลเจ้าไต้ฮงกง, ก่อสร้างท่าน้ำฮั่วเซี้ยม, ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้า เป็นต้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึงขึ้น โดยชักชวนเหล่าพรรคพวกเพื่อนฝูงในสมัยนั้น มาร่วมกันสร้างมูลนิธิช่วยเหลือผู้ยากไร้ตกทุกข์ได้ยากและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดีแต่ยากไร้ อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนในการรณรงค์หาเงินเข้าสภากาชาดไทยอย่างมากมาย รวมถึงได้บริจาคเงิน 10,000 บาทในการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 9 พร้อมทั้งยังเป็นผู้ชักชวนเพื่อนฝูงคหบดีรวบรวมกันบริจาคเงินซื้อ “เรือรบหลวง พระร่วง”ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเข้าประจำการในกิจการป้องกันประเทศชาติของกองทัพเรือโดยท่านนำร่องบริจาคทรัพย์เป็นเงิน 10,000.00 บาท รวมถึงการส่งเงินไปช่วยสร้างเขื่อนที่ประเทศจีน ทำให้ชาวจีนรอดชีวิตจากน้ำท่วมทุกปีเป็นจำนวนมาก

บั้นปลายชีวิต  เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 รองหัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยมได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านของท่าน สิริอายุรวม 87 ปี เนื่องจากท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่ชาวจีนเป็นจำนวนมาก ศพของท่านจึงถูกขอนำกลับไปฝังที่สุสานในเมืองปังโค่ย ประเทศจีน  หลังจากท่านเสียชีวิตแล้ว  เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ๒๔๙๙ กระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศคำสั่งให้ย้ายสถานีตำรวจนครบาลสามแยกไปรวมกับโรงพักป้อมปราบ ซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่ที่เลขที่ ๔๔๗ ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร แล้วให้เปลี่ยนชื่อดังนี้ โรงพักป้อมปราบ เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เขต ๑โรงพักสามแยก เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เขต ๒โดยที่ทำการทั้ง ๒ สน. ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นที่ดินบริจาคขนาดพื้นที่ ๓ ไร่ ๑๕๖ ตารางวา ของรองหัวหมื่นพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งขณะนั้นมี พันตำรวจเอกหลวงอดุล เดชจรัส เป็นอธิบดีกรมตำรวจ    และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยความแออัดทรุดโทรม ของที่ทำการสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต ๑ และสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต ๒ จึงได้ทำการทุบที่ทำการเดิม ๔ ชั้น สร้างรูปแบบใหม่เป็นอาคาร ๑๓ ชั้น สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๕๓๗ และได้มีการสร้าง “ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง” ขึ้น ที่ดาดฟ้าชั้น ๔ สถานีตำรวจพลับพลาไชย ซึ่งในปัจจุบันศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่นับถือของตำรวจที่นี่และบุคคลทั่วไป โดยผู้คนที่มากราบไหว้นิยมขอในเรื่องของโชคลาภและขอหวยตามความเชื่อในประวัติของท่าน และทุกวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปี ทายาทร่วมกับผู้ที่เคารพเลื่อมใสและตำรวจสน.พลับพลาไชยจะจัดทำบุญเพื่อระลึกถึงท่าน

พระราชทานบรรดาศักดิ์  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงทราบถึงคุณความดีและทรงพอพระทัยอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระอนุวัตน์ราชนิยม” รองหัวหมื่น กรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามสกุล “เตชะวณิช” ตำแหน่งนายอากร เมื่อวันที่ 28  กรกฎาคม พ.ศ.2461 และท่านยังเป็นต้นตระกูล “เตชะวณิช” อีกด้วย

คุณความดีที่ “รองหัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยม” (ยี่กอฮง)ได้สร้างไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตได้แก่

๑. โรงเรียนอนุวัตน์ศึกษาคาร หรือโรงเรียนโยธินบูรณะในปัจจุบัน (รัชกาลที่๖ทรงเสด็จเปิดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๖๑)

๒. โรงเรียนป้วยเอง หรือโรงเรียนเผยอิง (รัชกาลที่๖ทรงเสด็จเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๖๓)

๓. โรงเรียนช่องฟ้าซินเชิงวาณิชบำรุง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๔

๔. คณะเก็บศพไต้ฮงกง หรือมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ในปัจจุบัน ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๙

๕. ถนน “เตชะวณิช”

๖. สะพาน “อนุวัตน์วโรดม”

๗. สะพาน “นิยมนฤนาถ”

๘. สะพาน “ฮงอุทิศ”

๙. บริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่๙)

๑๐. ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว

๑๑. ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้า

๑๒.บริจาคเงินซื้อเรือรบหลวงพระร่วง

๑๓.สร้างท่าน้ำฮั่วเซียม

๑๔.ดำรงตำแหน่งนายอากร เก็บภาษี และนำรายได้ส่งท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน