นายสุวัจน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีมีชื่อแปะท้าย “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ฉายานักล่าแห่งสยาม ในงานแถลงข่าว “ไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธ์ใหม่ของโลก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน จังหวัดนครราชสีมาเวลา 9.30 น. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองราชการจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะประธานร่วมกันของงานแถลงข่าวผู้สนับสนุนการอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิล, ดร.โยอิชิ อาซูมะ (Dr. Yoichi Azuma) ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่นและได้รับเกียรติจาก นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายประเสริฐ บุญชัยสุข อีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนมาร่วมงานกว่า 100 คน
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้รับการสดุดีในงานแถลงข่าวไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธ์ใหม่ของโลก ในฐานะผู้นำกิติมศักดิ์ทางด้านบรรพชีวินที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯมาถึง 25 ปี กล่าวเปิดงานแถลงข่าว “ไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธ์ใหม่ของโลก : นักล่าแห่งสยาม” ร่วมกับ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
ขอบคุณที่ท่านอธิการบดีและคณะผู้วิจัยไทยและญี่ปุ่นได้ตั้งของตน เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของชื่อไดโนเสาร์ที่พบใหม่และเป็นพันธ์ใหม่ ลำดับที่ 12 ของไทย ในชื่อ “สยามแรพเตอร์ สุวัจน์ติ” (Siamrapter Suwati) และนายสุวัจน์ยังแสดงความคิดเห็นถึงความสนใจที่จะพัฒนาในด้านของบรรพชีวินวิทยา เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาที่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านฟอสซิล ที่อาจกล่าวได้ว่า โคราชเป็น Fossil City เพราะพบเป็นจำนวนมาก หลากหลายอายุและหลายชนิดในบริเวณชานเมืองจังหวัดนครราชสีมา ที่สามารถจะพัฒนาไปจนถึงเป็นระดับผู้นำของโลกได้ เพราะศักยภาพโคราชพร้อมและโดดเด่น โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯเป็นเสาหลักในเรื่องนี้ รวมทั้งนำเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักในการขอรับรองการจัดตั้งพื้นที่ 5 อำเภอ ของโคราชจีโอพาร์ค ให้เป็นจีโอพาร์คโลกที่รับรองโดยยูเนสโก ซึ่งจะมีการประเมิณในอีก 6-7 เดือนที่จะถึงนี้ โดยหวังในความอนุเคราะห์สนับสนุนจากทางกรมทรัพยากรธรณี จังหวัดนครราชสีมา กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประการสำคัญคือ ชาวโคราชทั้งหมดที่จะมีส่วนร่วมผลักดันขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลกต่อจากเกาหลีใต้และจีน ที่จะได้ชื่อว่า “ดินแดน 3 มงกุฎของยูเนสโก” หรือ “The UNESCO Triple Crown”(นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าว)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เปิดเผยว่า สำหรับ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siamraptor suwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารีอำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง 25 ปี ซึ่งสยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษา ค้นคว้าจากฟอสซิลรวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า โดยคาดว่า ฟอสซิลดังกล่าวมาจากสยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน
จากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สยามแรปเตอร์จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตั้งแต่ยุคครีเทเชียส ตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ(MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: