X

ชาวชัยภูมิวอนรัฐบาล ปลดล็อกเสริมมาตรการขยายผลธนาคารน้ำใต้ดินทั่วอีสาน แก้น้ำเค็ม น้ำแล้งยั่งยืน (คลิป)

ชัยภูมิ – รายงานพิเศษ ! หลังปีนี้เกิดวิกฤตภัยแล้งขาดน้ำหนักสุดในรอบหลายสิบปีไปทั่วภาคอีสาน ซึ่งพบการแก้ปัญหาส่วนใหญ่มีการเร่งเข้าไปช่วยขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยเหลือนับหลายร้อยหลายพันหมู่บ้านมาต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้เพราะเกิดความเค็มจัดใช้ไม่ได้ ต้องปิดบ่อทิ้งร้างเสียเปล่าไปหลายพื้นที่ จนล่าสุดชาวคอนสวรรค์นำระบบต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของน้ำในบ่อบาดาล เกิดเห็นผลจนสามารถนำมาดื่มได้ และใช้ด้านการเกษตรได้เป็นผลสำเร็จ แต่ส่วนหนึ่งเกิดปัญหาเงื่อนไขระเบียบข้อปฏิบัติทางราชการที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันไม่สามารถสูบน้ำครอบคลุมทั้งพื้นที่บนดินและใต้ดินได้  จากวิกฤติวันนี้ที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่เริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญในเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินกันมากขึ้น จึงมีการออกมาขอฝากวิงวอนไปถึงรัฐบาลได้เร่งให้ความสำคัญเพื่อปลดล็อค หาทางแก้ไขช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งกันอย่างครอบคลุมยั่งยืนตามมามากว่าที่จะปล่อยปัญหานี้ซ้ำซากเป็นประจำทุกปี เป็นการด่วนด้วย!

ขณะที่ปี 2562 นี้ ถือว่าผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายสิบปีในทั่วประเทศ แนวทางการแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายต่างเริ่มพากันเข้ามาให้ความสำคัญในการช่วยแก้ปัญหากันมากขึ้น ซึ่งอีกด้านประเทศไทยประสบปัญหาดินเค็มกว่า 21 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน ถึง 17.81 ล้านไร่ ในพื้นที่ 18 จังหวัด 94 อำเภอ จากพื้นที่ของภาคอีสานทั้งหมด 107 ล้านไร่ และในจำนวนนี้มีพื้นที่ดินเค็มมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ร้อยเอ็ด จ.สกลนคร จ.มหาสารคาม  จ.ขอนแก่น และ ชัยภูมิ

ซึ่งในส่วนของชัยภูมิ กินพื้นที่ 856,251ไร่ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาไม่สามารถจะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ บางพื้นที่ยอมทิ้งที่ทำกินจนกลายเป็นพื้นที่ร้าง และเกิดความแห้งแล้ง

จากสถานการณ์ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิที่ผ่านมา เข้าสู่ขั้นวิกฤติหลังแหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งระดมกำลังออกช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ แต่ก็ช่วยเยียวยาพอคลายทุกข์ร้อนได้บ้างเท่านั้น

จนกระแสการออกมาให้ความสำคัญช่วยหาแนวทางมาช่วยแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมกันให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีชาวบ้าน โรงเรียน วัด ชุมชน เองต้องหาวิธีช่วยเหลือตนเองโดยการขุดเจาะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ เพื่อที่จะนำน้ำมาใช้ในการเกษตรและในการอุปโภค ในช่วงจำเป็นเช่นนี้ แต่ก็ต้องประสบปัญหาเหมือนมาซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับชาวไร่ชาวนาและเกษตรกร อีกเมื่อบ่อน้ำบาดาล ที่ทางภาครัฐเองก็ดี ชุมชนเองก็ดีขุดเจาะช่วยชาวบ้านมีแต่น้ำเค็ม และขุ่นเกินค่ามาตรฐานไม่สามารถนำน้ำบาดาลมาใช้อะไรได้เลยเป็นส่วนมากในทุกพื้นที่ในเขตพื้นที่ภาคอีสานที่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

ซึ่งในส่วนของ จ.ชัยภูมิ นายสง่า  ผาสุข อายุ 69 ปี ชาวบ้านบ้านจอก ต.คอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงปัญหาว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจุบันในเขตพื้นที่ จังหวัดชัยภูมิ มี อ.คอนสวรรค์และอำเภอใกล้เคียงชาวบ้านประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากทางอำเภอและจังหวัดมาทุกปี ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่จะต้องตามแก้ไขกันทุกปี

“โดยเฉพาะปัญหาดินเค็มในพื้นที่ ที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เท่าที่ควร เมื่อถึงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ก็จะทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว จนที่ผ่านมามีการเปิดศึกแย่งชิงน้ำกันตามหมู่บ้าน ซึ่งทางผู้นำหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลมาขุดเจาะให้ชาวบ้านบ้านจอก บริเวณกลางวัดโพธิ์เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น แต่เมื่อขุดเจาะเสร๊จก็สร้างความผิดหวังเป็นอย่างมากเมื่อน้ำบาดาลที่ได้มีรสเค็มมากจนนำมาใช้ไม่ได้เลยต้องทำการปิดบ่อและถมกลบคืนทิ้งเสียเปล่าประโยชน์ไป”

ซึ่งปัญหาบ่อบาดาลเค็ม สิ่งหนึ่งที่พบในปัจจุบัน คือมีการเข้ามาดำเนินการขุดเจาะไปเป็นจำนวนมากหลายร้อยหลายพันจุดทั่วภาคอีสาน แต่ใช้การไม่ได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่พบและน่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีการขุดบ่อบาดาลไปแล้ว มีน้ำแต่ใช้ไม่ได้เกิดความเค็ม เรื่องต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินจากบ่อบาดาลเค็มที่โรงเรียนของอ.คอนสวรรค์ นี้เริ่มเห็นผลซึ่งสามารถเข้ามาช่วยปรับปรุ่งสภาพน้ำเค็มให้กลายมาเป็นน้ำสะอาด ดื่มได้ ใช้ทำการเพาะปลูกได้

ซึ่งเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินนี้ ก็อยากจะขอฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องระดับสูงขอให้ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาของประชาชน ในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคในบ่อบาดาล ได้ช่วยให้ความสำคัญที่จะเป็นอีกยุทธศาสาตร์ในการหาทางวิธีดำเนินการลดความเค็มลงเพื่อ ที่จะมีโอกาสให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคและบริโภคต่อไปในระยะยาวอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ ซึ่งเมื่อบ่อน้ำบาดาลเป็นสิ่งที่มีใกล้ตัวชาวบ้านในทุกชุมชนอยู่แล้ว และเป็นแหล่งของน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งน้ำดื่ม น้ำแร่สารพัดยี่ห้อ กระทั่งประปาหมู่บ้านล้วนแล้วแต่อาศัยแหล่งน้ำจากใต้ดินทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยให้ความสำคัญในการนำเรื่องน้ำบาดาลมาอยู่ในแผนที่เดียวกับแหล่งน้ำผิวดินเวลาบริหารจัดการน้ำนั้น ต้องทำทั้งน้ำบนดินและใต้ดินน้ำบาดาล ที่ผ่านมาการวางแผนน้ำส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแผนการจัดการน้ำผิวดิน ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ๆ พึ่งพาการใช้น้ำบาดาลเป็นหลักอยู่ในทุกพื้นที่ชุมชนเป็นจำนวนมากในปัจจุบันทั่วภาคอีสานอยู่แล้ว จึงอยากฝากเรื่องการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่หน่วยงานของรัฐเองควรจะลงมาให้ความสำคัญในจุดนี้มากขึ้นด้วย

ขณะที่ทางโรงเรียนคอนสวรรค์ ด้านนายถวิล  มนตรี  ผู้อำนวยการโรงเรียนคอนสวรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่ามมา ทางโรงเรียนคอนสวรรค์พร้อมทั้งคณะครูอาจารย์เด็กนักเรียนต้องประสบปัญหาภัยแล้งน้ำเค็ม น้ำท่วม ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วโรงเรียน มานานหลายปีและที่ผ่านมายังมีฝ่ายทหารของกองทัพภาค 2 มาช่วยขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้กับโรงเรียน เพื่อไว้ใช้บรรเทาความเดือดร้อน ในช่วงหน้าแล้ง แต่น้ำที่ขุดได้ซึ่งเป็นน้ำบาดาลมีรสชาติเค็มและขุ่นเป็นอย่างมากโดยมีความลึกถึง 40 เมตรจากผิวดิน โดยมีการตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ บ่อบาดาลที่โรงเรียนคอนสวรรค์แห่งนี้

มีค่า pH 9.7 ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในการนำไปบริโภคมากและไม่สามารถนำน้ำดังกล่าวขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ ทางโรงเรียนก็ได้ทำการปิดบ่ออย่างไร้ความหวังที่จะใช้น้ำบาดาลนี้ ต่อมาทางโรงเรียนได้แจ้งปัญหาไปที่สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ หรือโครงการ ธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งนำมาทดลองขุดบ่อ และเพื่อทำการทดลองซึ่งหลังจากการดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ปี สภาพน้ำใต้ดินและความเค็มก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆจนล่าสุดได้มีการเปิดวัดปริมาณน้ำบาดาลที่ห่างจากผิวดินเหลือเพียง 3.70 เมตรและวัดค่า pH ได้ 7.28 ซึ่ง ค่ามาตรฐานในการใช้ดื่มอยู่ประมาณที่ 7.02

หลังมีการนำระบบธนาคารน้ำใต้ดินมาช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มจัดในบ่อบาดาลแห่งนี้ได้ แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคภายในโรงเรียนมาได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน โดยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งน้ำเค็มน้ำเน่าเสีย ที่อยู่และเกิดปัญหาในโรงเรียนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน

ทั้งมีการนำน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินของเราไปใช้ด้านการเพาะปลูก ก็เห็นผลเจริญเติบโตเขียวขจีอย่างทันตาเห็น ซึ่งการทำโครงการนี้ถือว่า มีความสำเร็จจนเป็นรูปธรรมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากมีการสนับสนุนโครงการนี้ขยายผลไปในจุดบ่อน้ำบาดาลที่เกิดความเค็ม ให้กลับมาใช้น้ำที่สะอาดไม่เกิดความเค็มได้ แนวทางการช่วยกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานก็จะดีขึ้นตามมาอีกเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งก็อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

ด้านนายรัตนศักดิ์  รัตนมณี หน.ฝ่ายปฎิการธนาคารน้ำใต้ดิน ส.น้ำนิเทศศาสนคุณ กล่าวว่า หลายๆ พื้นที่ในภาคอีสานก็มีปัญหาเรื่องภัยแล้งอย่างหนักกันทั่วหน้า การแก้ไขปัญหาภัยแล้งไม่ใช่จะหาเพียงน้ำฝนอย่างเดียว แต่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งอีกแบบหนึ่งคือ การแก้ไขระบบน้ำบาดาลที่เกิดความเค็มเพราะหลายๆ ที่ฝนไม่ตกก็จะเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลกัน ซึ่งการเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลในหลายจุดนั้น ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างที่หวัง เพราะน้ำที่จะนำขึ้นมาใช้นั้นมีความเค็มเกินมาตราฐาน  เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาใน 2 เรื่องนนี้ควรจะไปด้วยกัน เพื่อให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรมีต้นทุนน้ำไว้ใช้ในการเกษตรด้านการอุปโภคบริโภคได้ อย่างทั่วถึงและใกล้ตัว

โดยอยากให้หน่วยงานรัฐ หรือรัฐบาลเองช่วยมองให้เห็นปัญหานี้และแนะนำวิธีการแก้ไขนี้โดยการใช้หลักของธนาคารน้ำใต้ดินมาแก้ไขในเรื่องปัญหาภัยแล้งคุณภาพน้ำบาดาลนี้ ตามตัวอย่างต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินที่โรงเรียนครสวรรค์นี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้มีการทดลอง และสามารถเข้ามาชมงานได้ เพื่อเป็นการพิสูจน์แล้วว่าการทำแบบนี้สามารถแก้ไขได้จริง

ให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกร ในพื้นที่ที่กำลังเพาะปลูก และถ้าเกิดจะทำธนาคารน้ำใต้ดินในช่วงนี้นั้นอาจจะไม่ทันเพราะฝนยังไม่มา แหล่งน้ำที่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ง่ายที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถใช้แหล่งน้ำ ผิวดินที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้นเข้ามาช่วยเติมน้ำใต้ดินในบ่อบาดาลได้บางส่วน เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง อ่างเก็บน้ำต่างๆที่ใกล้ที่สุด ให้ชาวบ้านใช้น้ำเหล่านั้นได้อย่างสะดวก เพื่อแก้ปัญหาในระยะต้นได้ก่อน ที่จะดำเนินการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเก็บกักน้ำฝนและบำบัด น้ำ เค็ม หรือน้ำบาดาลให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เมื่อ 2 ปีที่แล้วทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีโครงการเติมน้ำใต้ดินเป็นการเก็บน้ำฝนในหลายๆจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ดีเข้าถึงประชาชนและเกษตรกร แต่เมื่อทำโครงการได้สักระยะหนึ่งก็มีข้อระเบียบ หลายๆหน่วยงาน เข้ามา ขวางกั้นโอกาสไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สถานที่ เรื่องของการขุดเจาะที่จะต้องมีระเบียบบังคับ รวมถึงปัญหาของการห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปขอสูบน้ำจากคูคลองแหล่งน้ำธรรมชาติน้ำสาธารณะเข้ามาใช้ในพื้นที่เพื่อการเกษตรได้

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลหน่วยงานที่มีหน้าที่การบริหารน้ำได้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกันด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านหรือชุมชนหรือหน่วยราชการในพื้นที่สามารถนำมาแก้ไขเพื่อขยายให้ได้มากขึ้นก็จะเป็นเรื่องดี และขออยากฝากถึงผู้ใหญ่รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการที่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เปิดโอกาสเปิดเวทีหรือมาพูดคุยกันว่าจะทำยังไงเราจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในเรื่องการเข้ามมาส่งเสริมให้เกิดธนาคารน้ำใต้ดินไปในทั่วประเทศได้ โดยที่ไม่ติดเรื่องของตัวบทระเบียบ มากเกินไปด้วยหรือท่านใดอยากได้ข้อมูลก็สามารถติดต่อมาได้ที่ Facebook ธนาคารน้ำใต้ดิน groundwater bank

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สุทธิพงศ์ เสฏฐรังสี

สุทธิพงศ์ เสฏฐรังสี

น้อมรับการทำหน้าที่สื่อเพื่อประชาชนมายาวนานกว่า25ปีเพื่อชาวชัยภูมิพร้อมเป็นเครือข่ายการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีในนามสมาคมนักข่าวจังหวัดชัยภูมิและชมรมสื่อมวลชนชัยภูมิพร้อมรับใช้ชาวชัยภูมิและเป็นเวทีให้กับประชาชนทุกท่านตลอดไปมีอะไรเดือดเนื้อร้อนใจติดต่อมาที่ทีมงาน77ข่าวเด็ดชัยภูมิเราได้หรือที่[email protected]