X

น้ำแห้งจริง ส่อเค้าข้าวไม่มีขาย ผู้ว่าหญิงเร่งแก้ด่วน

นางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ออกตรวจสอบพื้นที่ภัยแล้งทั่วทั้งจังหวัดพบว่าอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นาข้าวจำนวนมากกำลังขาดน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ไปที่อ่างปางจาวอ.วังชิ้น จ.แพร่ พบว่ามีน้ำเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

นางกานต์เปรมปรีย์ กล่าวถึงการทำงานว่า แม้ว่าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เพียงปีเดียวเท่านั้น. จะทำงานให้เต็มที่เต็มกำลังความสามารถและจะทำงานให้เป็นสองเท่าของการทำงานปกติ

ขณะนี้ได้ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ผ่านมา 23 วัน เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะภัยแล้งต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ปีนี้ฝนตกไม่เพียงพอเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมาได้นำหัวหน้าส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) แพร่ วิศวกรชลประทาน ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยลงพื้นที่พร้อมด้วยนายวิชิต เที่ยงธรรม นายอำเภอวังชิ้น ดูพื้นที่จริง นาข้าวที่กำลังขาดน้ำ ได้ไปที่บริเวณอ่างเก็บน้ำปางจาว บ้านม่วงคำ ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เพื่อดูสภาพความเป็นจริงของอ่างเก็บน้ำดังกล่าว มีเกษตรกรที่ประสบภัยเข้าพบหารือและขอความช่วยเหลือในบริเวณดังกล่าวด้วยพบว่ามีน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ต้องหยุดปล่อยน้ำถ้าไม่มีน้ำปล่อยหล่อเลี้ยงนาข้าวจากนี้ไป ประมาณการได้ว่า ข้าวจะได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละ 40 หมายถึงชาวบ้านต้องซ้ือข้าวกิน และภาพโดยรวมของอำเภอวังชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรทำนาแบบขั้นบันไดคือนาน้ำฝน ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ไหลระบายมาตามลำห้วยเป็นหลัก

พบว่าน้ำไม่มีแล้ว การช่วยเหลือเฉพาะหน้าจะทำอย่างไร เรื่องนี้จะต้องแก้ไขให้ได้ โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วยเหลือเฉพาะหน้าจะทำอย่างไร การช่วยเหลือระยะยาว. พบว่าอ่างเก็บน้ำไม่มีระบบชะลอน้ำในป่าเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง ยืดเวลาการทำให้อ่างมีน้ำใช้ได้นานขึ้น ไม่มีระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรม สิ่งเหล่านี้ต้องร่วมกันคิดหาทางออกให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือระยะที่ 2 อ่างเก็บน้ำจะหาวิธีเติมน้ำได้หรือไม่ หรือถ้าไม่มีจริงจังจะต้องขุดน้ำบาดาล ก็ต้องช่วยกันหาวิธีการ อ่างบางแห่งตื้นเชิน มาตรการดักตะกอนฟื้นฟูป่า และการขุดลอกหน้าอ่าง ซึ่งพบว่ามีปัญหาทางกฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยาน ฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สิ่งเหล่านี้ต้องหาทางออกให้ได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน และคงต้องใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดการแก้ไขได้ตามแผน จึงได้ประกาศสภาวะภัยพิบัติและประกาศการช่วยเหลือ ในพื้นที่ภัยแล้งจังหวัดแพร่ เพื่อรับสถานการณ์ในขณะนี้


เกษตรกรในพื้นที่ต.สรอย อ.วังชิ้นได้ร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เร่งช่วยเหลือในการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปอยเพิ่มขึ้น และทำลำรางส่งน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ และพื้นฟูป่าไม้ สร้างฝายชลอน้ำเพิ่มปริมาณที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติให้มากขึ้น โครงการสร้างอ่างห้วยแม่ปอยดังกล่าวมีโครงการมานานแล้วแต่ติดพื้นที่ป่าต้นน้ำโซน A ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้เรื่องนี้น่าสนใจซึ่งคงต้องดูที่กฎหมายอนุรักษ์และถ้าชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูป่าร่วมกันอนุรักษ์ก็น่าจะเป็นไปได้ท่ามกลางภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่
การเกิดภัยแล้งขณะนี้ซึ่งยังเป็นช่วงปลายฤดูฝน ไม่เคยมีปรากฏการเช่นนี้มาก่อน จากการลงสำรวจหลายพื้นที่พบว่าชาวบ้านจะได้รับความเดือนร้อนอย่างแน่นอน ตั้งแต่ทางตอนเหนือสุดคือ ต.สะเอียบ ต.เตาปูน อ.สอง มาทางอ.ร้องกวาง ส่วนตอนกลางคือ อ.เมือง อ.สูงเม่น อ.เด่นชัย พบว่าประสบภัยแล้งเหมือนกันแต่ไม่ถึงกับขาดน้ำทีเดียว ส่วนทางตอนใต้หนักมากผลผลิตข้าวอาจใช้ไม่ได้ในอัตราสูงคือที่ อ.ลอง และ อ.วังชิ้น เรื่องนี้คงต้องให้ความสำคัญ โดยทางจังหวัดจะประกาศสภาวะภัยพิบัติ และออกประกาศการช่วยเหลือ เพื่อที่จะหาทางพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวให้กับเกษตรกร โดยต้องเร่งดำเนินการ คือการฟื้นฟูแหล่งต้นทุนน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำขนาดเล็ก บ่อจิ๋ว หรือ บนภูเขาจะนำทฤษฎี “โคกหนองนา” ของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.กระทรวงเกษตรฯ มาดำเนินการโดยผ่านสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ ให้ชลประทานเร่งสำรวจอ่างที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่มีลำเหมืองส่งน้ำต้องเร่งดำเนินการ พื้นที่ขาดน้ำมากจะขุดบ่อบาดาลได้อย่างไรหน่วยงานต้องเร่งสำรวจพื้นที่วิกฤตต้องเร่งช่วยเป็นพิเศษ ส่วนเกษตรกรชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยจะต้องให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชใหม่ทั้งหมดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศในปัจจุบัน ส่วนโครงการแผนแก้ภัยแล้งที่มีอยู่แล้วเช่นการขุดน้ำบาดานเพื่อชุมชน เพื่อการเกษตร ของกรมทรัพยากรน้ำ จะต้องเร่งดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางกานต์เปรมปรีย์ ได้เดินทางไปดูสภาพความแห้งแล้งของอ่างแม่ปะ ในอ.วังชิ้น อีกแห่งหนึ่งก่อนเดินทางเข้าตัวจังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการเข้าทำงานที่ต้องรับสภาวะภัยแล้งตั้งแต่วันแรกของการมารับตำแหน่ง และ เริ่มมองเห็นสภาพความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นทุกขณะ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกเข้าไปก่อนที่ปัญหาใหญ่จะตามมาในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน