X

เจ้าของเหมืองแบไรท์เมืองแพร่เหิม ประกาศห้ามใช้เมรุเผาศพต่อหน้าผู้ตรวจการแผ่นดิน


ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้จุดเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานรัฐเปิดช่องให้กลุ่มทุนทำเหมืองโยนทุกข์ให้ชาวบ้าน
เวลา 10.00 น.วันที่ 25 สิงหาคม คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบด้วยพันโทเทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และ พันตำรวจโทเทวิล ชาญกล้า เจ้าหน้าที่สอบสวน.นำนายวิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางมยุรี ผลดีประสิทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม นายคงฤทธิ์..เหล่ากาวี เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ นายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ และ พ.อ.สุชาติ พุ่มสุวรรณ รอง ผอ.ร.ม.น.จังหวัดแพร่ พร้อมทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ เข้าดูพื้นที่ทำเหมืองแร่แบไรท์ ที่บ้านอิม หมู่ 5 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำให้ลำน้ำแม่สวกตื้นเขิน และมลภาวะอื่น ๆ ต่อชุมชนจนมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เดินทางเข้าดูจุดทำเหมืองแร่แบไรท์ ที่มีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง และมีการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นสอบสวนของ DSI มานานถึง 3 ปีแล้ว และจุดล้างแร่ที่ปล่อยน้ำทิ้งลงลำน้ำแม่สวก และเข้าดูที่ทำการบริษัททำเหมืองแร่ศศิน จำกัด จุดวางเครื่องจักร และ จุดกองแร่ หลังจากนั้นได้นำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการบริษัททำเหมือง มีนายมณฑล สุริยาศศิน ผู้ได้ประทานบัตรเข้าร่วมหารือด้วย ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพูดคุยในห้องประชุม มีการชี้แจงจากฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องคือ อุตสาหกรรมจังหวัด ป่าไม้ และ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ เป็นการตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ ของข้อร้องเรียนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และเสียงจากผู้ประกอบการคือนายมณฑล พูดถึงการขอประทานบัตรใหม่และผลกระทบพร้อมทั้งทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างรวดเร็ว

นางมยุรี ผลดีประสิทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม ชี้แจง กรณีที่มีการร้องเรียนเหมืองแร่ และการขอประทานบัตรใหม่ ทาง ทสจ.แพร่ ได้ทำหนังสือไปยังกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการขออนุญาต อีกประเด็นคือการทำหนังสือไปยังฝ่ายนโยบายและแผนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนร้องเรียน ว่าเหมืองส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มีคำสั่งให้ สาธารณสุขจังหวัดแพร่.เข้ามาตรวจสุขภาพประชาชน พบว่าไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนหรือเป็นนัยสำคัญต่อสุขภาพ มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจ ตรวจมลภาวะพบว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน

นายโสภณ สุรภี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ รายงานให้ผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่ซ้ำซาก มีการพูดถึงบ่อยครั้งมาก ซึ่งทางราชการทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนแต่ยังมีการร้องเรียนไม่หยุด ความจริงแล้วประวัติการทำเหมืองที่บ้านอิม นั้น มีมานานแล้ว จากนายบุญชู กัมปนาถแสนยากร จำนวน 254 ไร่ เริ่ม 20 มิถุนายน 2522 ทำเหมืองมานานไม่มีปัญหา ก่อนหมดอายุประทานบัตรตามกฎหมายแร่ ต้องมีการยื่นขอประทานบัตรร่วงหน้า และก็ได้รับประทานบัตรต่อในพื้นที่เดิม ถัดออกไปมีคำขอประทานบัตรของนายมณฑล สุริยาศศิน ซึ่งทำตามข้อกฎหมายทุกประการ แปลงที่ 3 มีใบอนุญาตอีกใบพื้นที่ได้รับอนุญาตจากป่าไม้แล้วเช่นกัน จุดขออนุญาตอยู่ไกลจากชุมชนกว่า 1 กม. ส่วนการขออนุญาตใหม่จากผู้ประกอบการเดินเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย

พื้นที่ที่มีปัญหาติดลำห้วยแม่สวก มีปัญหาคือการขออนุญาตจากป่าไม้ล่าช้ามาก ทำให้เกิดปัญหา ปี 2560 กฎหมายแร่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งการขอประทานบัตรใหม่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการขอประชาคมต่อชุมชน ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.แร่ แต่ชาวบ้านก็ยังร้องเรียนไม่หยุด ทั้งๆ ที่ประชาคมผ่านไปแล้ว

นายมณฑล สุริยาศศิน เจ้าของผู้ขอประทานบัตรกล่าวว่า แม้ตนจะเป็นผู้ประกอบการจาก กทม. แต่ก็จะทำให้กับอำเภอลอง ดังนั้นการทำเหมืองได้ให้การช่วยเหลือ สร้างสิ่งสาธารณูปโภคให้กับชุมชนตลอดมา สร้างเมรุเผาศพให้กับชุมชนความจริงพวกต่อต้านไม่ควรมาใช้เมรุเผาศพที่บริษัททำเหมืองแร่สร้างให้ด้วยซ้ำไป การที่ DSI มาจับกุมแล้วดองคดีนานกว่า 3 ปีมาแล้ว ทำให้บริษัททำงานไม่ได้ จึงเกิดมลภาวะการพังทลายของดิน จะเข้าไปแก้ปัญหาก็ไม่ได้เพราะถ้าเข้าพื้นที่จะถูกดำเนินคดี หลังจากถูกจับดำเนินคดีก็ทำอะไรไม่ได้

พันโทเทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 กล่าวในที่ประชุมว่า ขั้นตอนของกฎหมายคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วนในการดำเนินคดี ส่วนความเดือดร้อนของประชาชนต้องรีบแก้ไข เช่นปัญหาลำห้วยที่มีหิน ทรายไหลมาจากจุดทำเหมืองทำให้ตื้นเขินจนส่งผลกระทบต่อประชาชน ลำห้วยต้องคืนสภาพให้เร็วที่สุด เหมืองแร่เดิมทำให้ลำห้วยตื้นเขิน การขออนุญาตพื้นที่อนุญาตใหม่ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดี่ยวกัน การพิจารณาอนุญาตก็ควรดูเมื่อพื้นที่เก่า มีการบุกรุก ทำเหมืองแบบผิดกฎหมาย จนเป็นคดีอยู่ที่ DSI เมื่อคนเดิมมาขอใหม่ไม่ควรปล่อยให้ดำเนินการ แต่ควรสั่งการหรือให้ความเห็นหรือชี้แจงถึงการกระทำผิดเก่าซึ่งยังไม่มีผลตัดสินออกมา ควรให้ปัญหาแรกหมดไปก่อนถูกลงโทษหรือศาลตัดสินพ้นผิดค่อยเริ่มขอประทานบัตรกันใหม่ ส่วนผลกระทบต่อชุมชน ขณะที่ DSI อายัดพื้นที่ระหว่างคดี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดการโดยประสานกับ DSI เพื่อไม่ให้ความเสียหายบานปลายออกไป เพราะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ติดตามเพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเหมืองแร่แบไรท์ที่บ้านอิม หมู่ 5 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ ทุกแปลงพบว่าเป็นผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกัน เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่ขอสัมปทาน ระหว่างดำเนินการมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีแต่เจ้าหน้าผู้รับผิดชอบยังเปิดให้มีการขอสัมประทานบัตรแปลงใหม่ต่อ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยเจตนาของกฎหมาย ควรให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามกฎหมายที่มีการกระทำผิดให้แล้วเสร็จเสียก่อน ส่วนปัญหาการพังทลายของดินรุนแรงต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยให้จังหวัดแพร่ เข้าไปควบคุมดูแลตามขั้นตอนโดยเร็ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน