X

เหยื่ออุบัติเหตุจากรถสาธารณะทั่วเหนือ รวมตัวสรุปบทเรียนพบหลังเกิดเหตุมีปัญหาบังคับใช้กฎหมายยาก


รถยนต์รับจ้างสาธารณะส่วนใหญ่ไม่สนการชดใช้สินไหมทดแทนต่อผู้ประสบภัยแม้ศาลบังคับคดีแล้วก็ตามหลังประสบภัยผู้เสียหายปัญหาตามมา เจ้าของกิจการรถรับจ้างไร้ความรับผิดชอบแม้พึ่งอำนาจศาล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาเรียกร้อง ประชาชนเตรียมด้านกฎหมายก่อนเดินทางกับรถรับจ้างสาธาณะ
ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพุ่งสูงขึ้นจนติดอันดับโลก โดยเฉพาะรถยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีอยู่ ยังไม่สนใจการเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้ประสบภัย ส่งผลให้ผู้ประสบภัยต้องแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์ด้วยการช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ตามที่กฎหมายคุ้มครอง เครือข่ายผู้ประสบภัยจากรถสาธารณะในจังหวัดแพร่ นำโดยนางศรัญรัตน์ พร้อมด้วยผู้ประสบภัยจำนวน 10 ราย เข้าร่วมกับเครือข่ายผู้ประสบภัยจากรถโดยสารสาธารณะในภาคเหนือ โดยมีการประชุมกันที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายนิคม บุญเสริม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เป็นประธานในการตั้งวงพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันของผู้ประสบภัยภาคเหนือ


ในการร่วมวงหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอุบัติภัยจากการเดินทางโดยรถรับจ้างรถโดยสารสาธารณะ โดยยกกรณี การเกิดอุบัติเหตุรถเช่าเหมาไม่ประจำทาง อ.วังเหนือของกลุ่มผู้สูงอายุ ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กรณีรถโดยสารสาธารณะ บริษัทเปรมประชา จ.แม่ฮ่องสอน กรณีรถโดยสารจากภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้มาเป็นกรณีตัวอย่างหลังการเกิดอุบัติเหตุแล้วเกิดอะไรขึ้นกับผู้ประสบภัย


นายนิคม บุญเสริม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะเกิดกับรถรับจ้างโดยสารประจำทางไม่ประจำทางเป็นจำนวนมาก ที่เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่รับผิดชอบสร้างปัญหาให้กับผู้ประสบภัยอย่างมากเป็นภาระต่อครอบครัวต่อสังคม การเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งเป็นอุบัติเหตุหมู่มีการสูญเสีย มีผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บ พิการ และ เสียชีวิต แต่ผู้ที่ไปรับเคราะห์เหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น รถโดยสารประจำทางสายเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการสัมปทานให้เดินรถเพียงกิจการเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุแต่ไม่มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามที่กฎหมายกำหนด ได้มีการฟ้องร้องในชั้นศาล มีคำสั่งศาลบังคับคดีและลงโทษ แต่คำสั่งศาลไม่ได้รับการปฏิบัติจากบริษัทรถโดยสารประจำทางดังกล่าวเลย ดังนั้นผู้ประสบภัยต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างข้อต่อรองให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรวมตัวเป็นสภาผู้บริโภคเป็นองค์กรที่ควรเข้ามาให้การเรียกร้องดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาผู้ประสบภัยต้องต่อสู้เรียกร้องเองเป็นรายๆ ไป วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประสบภัยจากรถโดยสารได้มารวมตัวกันทั้งจังหวัด แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างพลังให้หน่วยงานได้เห็นความเดือดร้อนและนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการมีรถโดยสารสาธารณะ บริษัทเอกชน ที่เข้าจดทะเบียนทำธุรกิจรถโดยสารประจำทาง ไม่ประจำทางทุกประเภทต้องผ่านมาตรฐานก่อนเข้ามาทำหน้าที่ จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นในปัจจุบันเช่น การไม่ชดใช้ ไม่เยียวยา ไม่รับผิดชอบ การนำรถร่วมมาใช้ในช่วงเทศกาลอย่างขาดการจัดทำระบบทางกฎหมายที่ถูกต้อง จะลดลงไปได้

ร.ศ ลำดวน ศรีศักดา ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาที่มาจากอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะบนท้องถนน ได้สะท้อนความรุนแรงที่เกิดกับชีวิตของประชาชน จากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงปี56-57 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุประมาณ 4,230 ครั้งหรือ 11.5ครั้งต่อวัน ซึ่งได้ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตมากถึง 1.5 ล้านคนในทุกๆ 2 ชั่วโมงของทุกๆวัน หมายความว่าจะมีคนไทย 2 คนต้องเสียชีวิตเพราะภัยบนท้องถนน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุ ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นความสูญเสียแห่งชาติอย่างมากมายมหาศาล จึงถือได้ว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุที่ติดอยู่ใน 3 อันดับแรกของการเสียชีวิตของคนไทย และไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง
ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ หรือรถโดยสารสองชั้นที่มีผู้นิยมเลือกใช้ในทั่วทุกภูมิภาค ถือเป็นสถานการณ์ปัญหาสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหากเป็นการให้บริการในเส้นทางที่มีอัตราความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้น เช่น เส้นทางตาก-แม่สอด เส้นทางพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ เส้นทางกบินทร์บุรี-ปักธงชัย เส้นทางสายเอเชีย ช่วงอ่างทอง- สิงห์บุรี-ชัยนาท เส้นทางรังสิต-สระบุรี เส้นทางกระบี่-พังงา และ เส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ซึ่งจากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นในปี ๒๕๖๐ ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน โดยเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารสาธารณะ พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นทั่วประเทศมากถึง ๖๐ ครั้ง แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง ๔๗ ครั้ง และรถโดยสารไม่ประจำทาง ๑๓ ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม ๑๐๘ คน และเสียชีวิต ๑๖ คน ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพของรถโดยสารสองชั้นกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีความแตกต่างกัน โดยพบว่ารถโดยสารชั้นเดียวจะมีน้ำหนักเบากว่ารถโดยสารสองชั้นถึง ๔ ตัน โดยตัวรถเปล่ามีน้ำหนัก ๑๕ ตัน สูง ๔ เมตร มี ๒ เพลา ๖ ล้อ บรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ ๔๐ คน ขณะที่รถโดยสารสองชั้นมีน้ำหนัก ๑๘ ตัน สูง ๔.๓๐ เมตร มี ๓ เพลา ๘ ล้อ บรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง ๖๐ คนนั้น ในทางวิศวกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ซึ่งหลายกรณีพบว่ายิ่งหากมีปัจจัยความประมาทเลินเล่อของคนขับ และปัจจัยเส้นทางเสี่ยงเสี่ยง สภาพถนนโค้ง ลาดชัน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ใช้ความเร็ว
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนกุล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า หลังการประชุมเครือข่ายผู้ประสบภัยจากรถโดยสารสาธารณะในครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอร่วมกันย่อๆ ดังนี้ ต่อกระทรวงคมนาคม ควรออกระเบียบบังคับให้ติดตั้งเครื่องกำหนดควรเร็ว ก่อนหน้านี้มีการติดต่างเครื่อง GPS ในรถโดยสารทุกชนิดแล้วควรมีการเปิดเผยข้อมูลประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบออนไลน์ สนับสนุนกลไกเฝ้าระวังภาคประชาชน พัฒนาช่องทางร้องเรียนการกระทำผิดทางออนไลน์ เร่งพัฒนาวิชาชีพสวัสดิการต่อผู้ทำหน้าที่ขับรถ การมีข้อมูลทางออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบและสามารถเลือกใช้บริหารที่ปลอดภัยได้ กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น และปรับปรุงเส้นทางให้มาตรฐานและเหมาะสม ข้อเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (ภปภ) กระทรวงพาณิชย์ ควรมีการเพิ่มวงเงินประกันกรณีภาคบังคับชดเชยการเสียชีวิตจาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท / ราย โดยต้องแยกทั้งการเสียชีวิตและพิการออกจากค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล จาก 80,000 บาท เป็น 1.5 แสนบาท / ราย เพิ่มวงเงินคุ้มครองประกันภัยภาคสมัครใจเฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในรถโดยสารขนาดใหญ่จาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท และตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาโดยนำมาจากค่าปรับจราจรและทุนจากประมูลเลขทะเบียนรถประจำปี และข้อเสนอต่อการใช้รถรับส่งนักเรียน สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องกำหนดมาตรการจัดรถรับส่งปลอดภัยให้กับโรงเรียนพร้อมกำหนดแนวทางติดตามประเมินผล มีคณะทำงานระดับประเทศและระดับพื้นที่ให้ประกอบด้วยกลไกมีส่วนร่วมที่หลากหลายและส่งเสริมให้การจัดการศึกษาที่ทั่วถึงเด็กได้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าเพื่อเป็นการลดการเดินทาง และควรสนับสนุนข้อมูลความรู้แนวทางการจัดการรถโดยสารนักเรียนที่ดีต่อสถานศึกษา ส่วนผู้บริโภคนางสุภาพร กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคองค์กรทำงานด้านผู้บริโภคต้องออกมามีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูล โดยเฉพาะหลักของความปลอดภัย เช่น “หนังสือสัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” รวมให้ความสำคัญ พร้อมทั้งต้องพัฒนาเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งในการเฝ้าระวัง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน