X

จี้สอบ อนุมัติป่าชุมชนทับซ้อน หน่วยงานรัฐเป็นใจส่อฮุบงบประมาณอุดหนุน หลายหน่วยเพิกเฉยปล่อยทำผิดลอยนวล


จี้สอบ อนุมัติป่าชุมชนทับซ้อน หน่วยงานรัฐเป็นใจส่อฮุบงบประมาณอุดหนุน หลายหน่วยเพิกเฉยปล่อยทำผิดลอยนวล

องค์กรตรวจสอบทุจริตภาคเอกชนลงพื้นที่ดูสถานที่จริง ประกาศป่าชุมชนทับซ้อนพื้นที่เดียวกัน ชาวบ้านร้องหน่วยงานรับผิดชอบแล้วยังนิ่งเฉย ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง นิ่งเฉยไม่สนใจแก้ กระทบธรรมาภิบาลรุนแรงชุมชนวุ่น เผยพบหลักฐานประชาคมเท็จ มั่วพิกัด ขออนุญาตป่าชุมชนทับซ้อนพื้นที่เดียวกัน บ้านเมืองนิ่งเฉยไม่สนใจกฎหมาย
ผู้

สื่อข่าวรายงานจาก ป่าชุมชนบ้านโป่งขาม หมู่ 4 ต.แม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปาง เมื่อวันที่19 พฤศจิกายน ถึงความคืบหน้าการสอบหาข้อเท็จจริง การประกาศป่าชุมชนทับซ้อนกันถึง 6 หมู่บ้านในป่าเดียวกันเป็นประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2560 คือป่าชุมชนบ้านแม่ปุ หมู่ 2 ป่าชุมชนบ้านต้นธง หมู่ 3 บ้านโป่งขาม หมู่ 4 บ้านวังผู หมู่ 5 และบ้านแม่ปุแพะหมู่ 6 พื้นที่ป่าทั้งหมดถูกประกาศในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโป่งขาม ในพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่


ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน องค์การสืบสวนทุจริต (FIO) นำโดยนายกรพัชร์ สุนทรพิธ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารด้านเยาวชนต้านการทุจริต พร้อมด้วยพระประสิทธิ์ ใจใหญ่ วัดนาตุ้ม ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่ปรึกษาองค์การ FIO เข้าตรวจสอบพื้นที่จริงบริเวณที่มีการประกาศป่าชุมชนทับซ้อนพื้นที่เดียวกันถึง 6 ป่า โดยเริ่มสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากชาวบ้านและกรรมการป่าชุมชนบ้านโป่งขามหมู่ 4 จำนวน 4 คน คือ นายมานัส ปาระปิน อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13/2 หมู่ 4 ต.แม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปาง มีตำแหน่งเป็นรองประธานป่าชุมชนบ้านโป่งขาม นายบาง แสนวงศ์เครือ อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/1 หมู่ 4 นายทองอินทร์ ชัยสมบัติ อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 4 ต.แม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปางและนายอุดม สมหาญวงศ์ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 4 ต.แม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปาง มีตำแหน่งเป็นเลขานุการกรรมการป่าชุมชนบ้านโป่งขาม โดยมีนายไกรรุจ กชสุรนามวงศ์ ที่ปรึกษาป่าชุมชน จ.ลำปาง จ.ตากร่วมให้ข้อมูล

ประเด็นปัญหาดังกล่าวชาวบ้านเริ่มสงสัยเมื่อมีการปักป้ายป่าชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโป่งขามหลายป้ายติดๆ กันซึ่งแต่ละป้ายเป็นป้ายของป่าชุมชนหลายแห่งมาปักอยู่ใกล้ๆ กัน ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ชาวบ้านนำเรื่องไปประท้วงขอข้อเท็จจริงจากนายอำเภอแม่พริก ซึ่งทางอำเภอเรียกตัวนายคมกฤษ แก้วเสน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.แม่ปุไปสอบสวนก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบสาเหตุ
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นายอำเภอแม่พริกและเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง เข้ามาชี้แจงกับชาวบ้านในชุมชนโป่งขาม บอกให้ชาวบ้านยอมรับการประกาศป่าชุมชนเพราะดำเนินการไปแล้ว โดยประกาศขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ซึ่งถ้าไม่ทำป่าชุมชนอุทยานแห่งชาติอาจเข้ามาควบคุมทำให้ชาวบ้านใช้ป่าไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านที่เข้าฟังคำชี้แจงโห่ไล่เจ้าหน้าที่ ซึ่งสุดท้ายให้ชาวบ้านไปสรุปแล้วหาข้อยุติ แต่ไม่ให้มีการบันทึกการประชุมในครั้งนี้

หลังจากนั้นนายคมกฤษ แก้วเสน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.แม่ปุ ไม่ยอมเรียกประชุมชาวบ้านรอไม่ไหวจึงไปปรึกษา นายอนุชา สถาปัตย์ พนักงานราชการกรมป่าไม้ส่วนป่าชุมชนที่จังหวัดลำปาง ได้คำตอบว่า กรรมการป่าชุมชนสามารถจัดประชุมได้

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งขาม หมู่ 4 จึงทำการประชุมกันเองโดยมอบหมายให้ นายอุดม สมหาญวงศ์ ข้าราชการบำนาญ เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้านเป็นประธานในที่ประชุม การประชุมได้มีการพูดคุยถกเถียง ถึงความเป็นมาการก่อตั้งป่าชุมชนหลายแห่งในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโป่งขาม ป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ร่วมกันมีอยู่ประมาณ 3,000 ไร่ ประกาศป่าชุมชนบ้านโป่งขามหมู่ 4 จำนวน 900 ไร่ ป่าชุมชนบ้านอื่นๆ มีปริมาณพื้นที่แตกต่างกันไป มีคนตั้งข้อสงสัย พบว่า บ้านท่าไม้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ไม่มีพื้นที่ป่า แต่มีชื่อประกาศป่าชุมชนจำนวน 1,500 ไร่กินพื้นที่ในป่าสงวนแห่งชาติและป่าชุมชนโป่งขาม ยังมีพิกัดออกไปทับซ้อนป่าชุมชนในบ้านผาปลัง ต.ผาปลัง อ.แม่พริกอีกด้วย

ป่าชุมชนในบัญชีประกาศป่าชุมชนพบว่า มีบางป่าใช้พิกัดในแผนที่ เป็นตัวเลขเดียวกัน นอกจากนั้นยังพบว่าในรายงานการทำตามระเบียบป่าชุมชนทั้งหมดมีการทำประชาคมที่เป็นข้อสงสัย พบว่าในเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนมีการทำประชาคมมีภาพพร้อม แต่พบว่า มีการทำเอกสารลงชื่อที่ใช้ลายมือเดียวกันเป็นส่วนใหญ่หรือลายเซ็นปลอมนั่นเอง รวมทั้งภาพประกอบการยกมือของชาวบ้านในที่ประชุมประชาคม ผู้เข้าร่วมประชุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคโควิด ซึ่งผู้ร่วมประชุมครั้งนี้เชื่อว่าเป็นภาพที่ถ่ายหลังโรคโควิด 19 ระบาดมีการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรค จึงไม่ใช้ภาพปี พ.ศ. 2560 อย่างแน่นอน เพราะป่าชุมชนทั้ง 6 ป่าประกาศอย่างเป็นทางการจากส่วนป่าชุมชน กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560

นอกจากนั้นยังพบว่า การเกิดป่าชุมชนขึ้นมาอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีงบประมาณอุดหนุนป่าชุมชนในจังหวัดลำปางจำนวน 68 ป่าชุมชน เมื่อพบเบาะแสการประกาศป่าชุมชนทับซ้อนส่อว่าจะเป็นการทำข้อมูลหลักฐานของทางราชการเป็นเท็จทั้งหมด หลังการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านโป่งขาม ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นข้อเสนอที่ชุมชนสามารถทำงานร่วมกับทางราชการได้ จำนวน 3 ข้อ คือ 1..ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับชุมชนเดินสำรวจแนวเขตป่าให้ชัดเจน ถูกต้องใหม่ทั้งหมด 2. มีการทำฟาร์มสุกรในพื้นที่ ชุมชนสงสัยว่าฟาร์มหมูอยู่ในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ สปก.4-01 หรือพื้นที่เอกสารสิทธิ์ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการสำรวจเพื่อหาข้อเท็จจริง 3.กรณีการจัดซื้อพันธุ์ไม้มาปลูกฟื้นฟูป่าตามงบประมาณอุดหนุนป่าชุมชนแปลงละ 70,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าใช้งบประมาณจำนวน 10,000 บาท/ ป่า จัดซื้อพันธุ์ไม้มาปลูกขอให้เป็นพื้นท้องถิ่นที่ชุมชนสามารถจัดหาได้ และ ไม่ทำลายระบบนิเวศน์

หนังสือดังกล่าว ที่กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนส่งไปยังส่วนป่าชุมชน ถูกส่งมายังผู้นำหมู่บ้าน อาจมีเจตนาจะให้เกิดการแก้ไข แต่กลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างผู้นำหมู่บ้าน กับกรรมการป่าชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยเฉพาะฟาร์มสุกร เป็นของผู้นำหมู่บ้านกลายเป็นการสร้างปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้น


นายมานัส ปาระปิน รองประธานป่าชุมชนโป่งขาม กล่าวว่า เดิมนั้นป่าแห่งนี้มีพื้นที่ 4,000 ไร่เศษ แต่เนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้นทำให้มีการบุกรุก ซึ่งชาวบ้านที่หวงแหนตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เริ่มตรวจสอบป่าและทำระบบชะลอน้ำให้ป่าชุ่มชื้น นายเจริญสุข ชุมศรี ตำแหน่งในขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการฝายแม้ว มีการพัฒนาฝายแม้วในป่าจำนวนมาก ปี พ.ศ. 2549 นายสามารถ ลอยฟ้า ตำแหน่งในขณะนั้นคือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานในกิจกรรมบวชป่าอนุรักษ์แย้ สัตว์ป่าที่เป็นอาหารของชุมชน ถือเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ป่าช่วงต้นๆ และปฏิบัติสืบทอดกันมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งผู้นำชุมชนไม่เห็นด้วยที่จะประกาศเป็นป่าชุมชน ทำให้พื้นที่ป่าแห่งนี้มีการอนุรักษ์แต่ไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายป่าชุมชนได้

นายอุดม สมหาญวงศ์ เลขานุการป่าชุมชนโป่งขาม เราไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนเพื่อประกาศพื้นที่อนุรักษ์และใช้สอยเป็นป่าชุมชน แต่อยู่ๆ กลับมีประกาศป่าชุมชนขึ้นมาทุกหมู่บ้าน แม้บางหมู่บ้านไม่ติดป่าก็ยังมีรายชื่อเจ้าของป่าชุมชน และพื้นที่ชุมชนกับป่าอยู่ห่างกันจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร การประกาศป่าชุมชนอย่างรวดเร็ว และย้อนหลังโดยทำเอกสารเท็จ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงการได้รับงบประมาณอุดหนุนป่าชุมชนละ 70,000 บาท ที่ทำเร่งเกิดป่าย้อนหลังและเกิดพร้อมๆ กันหลายป่าในพื้นที่เดียวกันพิกัดเดียวกันก็มีเป็นเพราะเร่งทำให้เงินลงมาหรือไม่มีการปักป้ายป่าอยู่ติดกัน ป้ายระเบียบกับป้ายชื่อป่าปักสลับตำบล มีการถอนป้ายออกหลังกลุ่มอนุรักษ์ป่าให้มีการตรวจสอบ


นายกรพัชร์ สุนทรพิธ องค์การสอบสวนทุจริตภาคเอกชน กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนมายังหน่วยงาน ก็ได้เข้าไปติดตามตรวจสอบ ไปดูข้อมูลของทางราชการที่สำนักงานส่วนป่าชุมชน จ.ลำปาง ลงมาดูพื้นที่ ตรวจสอบเอกสารการขึ้นทะเบียน ดูพื้นที่จริงในพื้นที่ป่าที่ทับซ้อนกัน ดูบริเวณที่ตั้งฟาร์มหมู สิ่งเหล่านี้มีมูลของการปฏิบัติราชการโดยมิชอบ โดยเฉพาะการร้องเรียนของชุมชนไปยังอำเภอและหน่วยป่าไม้ ไม่มีการปฏิบัติการตามกฎหมาย ซึ่งคงต้องสรุปสำนวนเพื่อส่งให้หน่วยงานป้องกันปราบปรามการทุจริตในวงราชการและอาจต้องดำเนินการกล่าวโทษในประเด็นที่มีความผิดชัดแจ้ง เช่น ผิดพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องรอสรุปสำนวนอีกระยะ และดูว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการอย่างไรคงต้องให้เวลาซักระยะ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน