X

ชาวนาพูน เร่งทางการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำก่อนไหลลงแม่ยม อ่างแม่สินต้นแบบเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร


จังหวัดแพร่เตรียมรับความแห้งแล้งหลังน้ำจำนวนมากผ่านไปเพียงไม่กี่วัน นาพูนจัดระบบน้ำสะสมใช้แก้ภัยแล้งแบบยั่งยืน ท้องถิ่นท้องที่เห็นความสำคัญผลักดันแหล่งเก็บน้ำ มากกว่าการขอร้องช่วยน้ำท่วม ส.อบต.สุดสวาด สร้างโมเดลจัดการน้ำจนเกิดสวนทุเรียนแหล่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ เนื่องจากน้ำเพียงพอ นายกอบต.เร่งอีก 3 อ่างน้ำดีถ้วนหน้า


จังหวัดแพร่ ถือเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำยม มีปริมาณน้ำฝนตกจำนวนมากส่งผลให้แม่น้ำยมมีปริมาณน้ำมากจนล้นฝั่งในฤดูฝน ปริมาณน้ำมหาศาลอยู่กับจังหวัดแพร่ ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ความแห้งแล้งก็มาเยือนเนื่องจากแพร่ทุกอำเภอเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน และป่าที่เคยซับน้ำเหลือน้อยลง การเปิดหน้าดินเพื่อการเกษตรมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความแห้งแล้งเร็วกว่าปกติ ความแห้งแล้งหลังฤดูฝนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมถือเป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดแพร่ทั้ง 78 ตำบล ใน 8 อำเภอ


ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เป็นตำบลหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรร้อยละ 70 ในตำบลนี้ปลูกส้มเขียวหวานเป็นดันดับ 1 รองลงมาคือการปลูกข้าวไว้รับประทานเอง ทั้งตำบลมีจำนวน 1,000 ไร่ เฉลี่ยหลังคาเรือนละ 2-3 ไร่ ซึ่งทำให้ข้าวในตำบลนาพูนไม่ขาดแคลน 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรในตำบลนาพูนประสบปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน

นางสุดสวาด ดีดพิณ ส.อบต.หมู่ 9 กล่าวว่า ตนพยายามวิ่งเต้นขอแหล่งน้ำมาอย่างต่อเนื่อง อ่างเก็บน้ำแม่สินถือเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญของหมู่บ้านมีการส่งน้ำระบบท่อจากอ่างเก็บน้ำมายังแปลงเกษตรกรในลุ่มน้ำ น้ำเหลือปลายทางไหลเข้าสู่ระบบธรรมชาติต่อไป แม้มีระบบส่งน้ำที่ดีแต่ปีที่ผ่านมาน้ำเกือบไม่พอใช้เพราะความแห้งแล้ง ปีนี้นางสุดสวาดกล่าวว่า ได้ประสานกับกองทัพ ส่งหน่วยทหารพัฒนาเข้ามาช่วยขุดลอกอ่างเก็บน้ำแม่สินยกระดับน้ำให้สูงขึ้นอีก 1 เมตรจากระดับน้ำเดิม ซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ตกในปีนี้ถึงระดับเดิมแล้วกำลังเพิ่มขึ้นในระดับที่ยกขึ้น ซึ่งปีนี้พื้นที่เกษตรกรรมสองฝั่งลำห้วยแม่สินไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน สิ่งเหล่านี้คือความมั่นใจหลังจากมีการพัฒนา ทำให้ชาวสวนในบริเวณดังกล่าว รวมไปถึงเขต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ให้หนาแน่นขึ้นเมื่อมีน้ำ ก็มีปลาเกิดอาชีพใหม่ ส่วนการเกษตรในหมู่ที่ 9 เริ่มพัฒนาเปลี่ยนจากปลูกส้มเพียงอย่างเดียวหันมาปลูกไม้ผลชนิดอื่นๆ ที่ปลูกกันมากในขณะนี้ คือ ทุเรียน เงาะ ลองกอง มะม่วง ทำให้ในหุบเขาสองฝั่งลำน้ำแม่สิน กล่าวเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ปลูกไม้ผลที่ต้องการน้ำมากได้ เช่น ทุเรียน มีผลผลิตให้จำหน่ายมา 2 ปีแล้ว ปีหน้าจะมีมากขึ้นจนถือได้ว่า เป็นแหล่งปลูกทุเรียนแห่งใหม่ของภาคเหนือ นางสุดสวาดกล่าวด้วยว่า เมื่อน้ำดีปลูกพืชที่เป็นอาหารเกษตรกรจึงพร้อมใจกันลดการใช้สารเคมี และ กำลังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ลดการใช้สารเคมี 100 % โดยเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ Phrae Organic Farming มาตรฐานอินทรีย์ของจังหวัดแพร่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการบริหารจัดการดิน น้ำ และป่าไม้ให้มีความสมดุล

นายปลั่ง วงค์หล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพูน กล่าวว่า นาพูนมี 11 หมู่บ้าน หลายหมู่บ้านติดแม่น้ำยม มีสภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันไปทุกปี หมู่ 7 ถือเป็นจุดสูงสุดอยู่บนภูเขา มีประชากรเป็นชาวอาข่า แห้งแล้งจนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสมาคมอาสาพัฒนาประเทศไทย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ร่วมกันผลักดันทำให้พื้นที่ดังกล่าวหมดปัญหาความแห้งแล้งไปได้ มีการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อนำเข้าสู่แผน อบต. ในการแห้ปัญหาระยะยาว อบต.นาพูนทำโครงการสร้างแหล่งน้ำตามความเหมาะสมของพื้นที่ กำลังผลักดันให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง คือ อ่างห้วยคอกช้าง หมู่ 6 อ่างแม่ปานลิน หมู่ 7 อ่างห้วยไม้ หมู่ที่ 8 เพื่อเก็บน้ำที่ตกลงมาไม่ให้ไหลลงน้ำยมไปหมด แต่การสร้างอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ ติดปัญหาอยู่ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ดำเนินการได้ล่าช้า ถ้าได้อ่างห้วยคอกช้างจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในตำบลนาพูนกว่าร้อยละ 80 มีน้ำเพียงพอ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งนำคัญกว่าการกังวลว่าน้ำจะท่วมหรือน้ำจะแล้ง การเร่งผลักดันแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน