X

12ข่ายสุขภาพภาคเหนือค้านดัดแปลง พ.ร.บ.สสสองค์กรในจ.แพร่เชื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการควบคุมของภาครัฐ

12ข่ายสุขภาพภาคเหนือค้านดัดแปลง พ.ร.บ.สสสองค์กรในจ.แพร่เชื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการควบคุมของภาครัฐ

องค์กรเครือข่ายสุขภาพในภาคเหนือ 17 จังหวัดเกิดความรู้สึกไม่สบายใจกับการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.โดยมีการประชุมร่วมกันเพื่อระดมความคิดเห็นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้นได้ร่วมกันออกแถลงการณ์
คัดค้านร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่..) พ.ศ.
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตาม พรบ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๔๔ ดำเนินการแก้ไขกฎหมายของ สสส. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แล้วมีมติเห็นชอบให้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเติมเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา ๗๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ ผ่านกระบวนการจัดประชุมภาคี ๔ ภาค และผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ๑ ครั้ง

ในนามผู้แทนของเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย บุคคล องค์กร ภาคสังคม ที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะกว่า ๑๒ เครือข่าย มีจุดยืนร่วม ขอคัดค้าน ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพปี พ.ศ… และกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้
๑. การแก้ไข พรบ.ฉบับนี้ ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ อันเป็นที่มาของการเกิด พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพปี พ.ศ ๒๕๔๔ ที่มุ่งสร้างการเป็นเจ้าของกองทุนในภาคส่วนประชาชน เพราะ สสส. เป็นกองทุนนิติบุคคลที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นการบริหารองค์กรรัฐรูปแบบใหม่ มิใช่อยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงใด
๒. การแก้ไข พรบ.ฉบับนี้ ไม่ได้ยึดหลักการของการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ อย่างถูกต้อง เปิดรับฟังความเห็นทางสื่อที่ไม่เป็นสาธารณะเท่าที่ควร มีระยะเวลาจำกัด ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง การรับฟังความเห็นที่มีสัดส่วนผู้เข้าร่วมน้อย ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนทั้งประเทศ
๓. ในกรณีอ้างว่า สสส. มีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมาย มีข้อเท็จจริงที่ยืนยัน และตรวจสอบจาก คตร. แล้วว่า ไม่พบความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว อีกทั้ง สสส. ยังได้รับรางวัลการันตีการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ระดับประเทศ ว่ามีการดำเนินงานที่โปร่งใส่ จึงไม่มีข้ออ้างและความชอบธรรมในการแก้ไขกฎหมายกองทุน สสส.
เครือข่าย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพ 12 เครือข่าย ขอคัดค้าน และให้ยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายทำให้เกิดความล้าหลัง และขัดกับเจนตนารมณ์ในการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพ หากจะมีการปรับแก้ไข พรบ.ให้ดีขึ้นตามเจตนา ก็ให้ดำเนินการในขณะที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของตนเองทั้งระดับพื้นที่และนโยบาย จึงจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเคารพสิทธิสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
ประกาศในนาม เครือข่าย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคเหนือ
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อิน จ.เชียงใหม่

นายธนชัย ฟูเฟื่อง เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคประชาชนต้องการเห็นการใช้งบประมาณของกองทุน สสส.ในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพภาคประชาชนไม่อยู่ในการควบคุมของหน่วยงานภาคราชการ จามเจตนาของการมีส่วนร่วมในกฏหมาย การเปลี่ยนแปลงใหม่น่าจะต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนภายใต้สภาผู้แทนราษฏรมากกว่าสภานิติบัญญัติในปัจจุบัน ขอให้ชลอร่างแก้ไขไว้ก่อนจนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรหรือใช้ฉบับเดิมที่มีหลักการการมีส่วนร่วม

นายวุฑูร สุรจิต เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จ.แพร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้รับงบประมาณจาก สสส มาพัฒนาด้านการสร้างเสริมสุขภาพหรือการดูแลสุขภาพเชิงรุก ภายใต้ข้อจำกัดและความจำเป็นได้ทุกองค์กรในประเทศไทย ไม่ต้องรอนโยบายสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุขมำให้สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาสุขภาพได้ตรงตามความต้องการ การแก้ พ.ร.บ.ใหม่เกรงว่าจะกลายเป็นการใช้งบประมาณภายใต้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์และไม่ตรงเจตนารมย์ของการออกกฏหมาย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน