X

ระทึก TOR ทุบอาคารกว่า 100 ปีเมืองแพร่ใครจะถูกหวย วรวัจน์แฉ

แก้เกี้ยวสำนัก 13 ส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นับ 100 สำเลียงซากไม้ 100 ปีหลบฝน ขณะทนายความชี้โทษอาญาผู้รับผิดชอบทำลายโบราณสถานคุกหลายปี วรวัจน์อดีตส.ส.แพร่ แฉ 3 กระทรวงพัวพัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ วันที่ 18 มิถุนายน ถึงความคืบหน้าหลังรื้อถอนอาคารประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ร่องรอยการป่าไม้ไทยที่สวนรุกขชาติเชตวัน ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกหนักตลอดสองวันที่ผ่านมา และมีทีท่าจะยังคงตกหนักต่อไป นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ พร้อมคนงานบริษัทรับเหมานับ 100 คนช่วยกันลำเลียงไม้ที่รื้อถอนไปเก็บในอาคารอีกหลังหนึ่งเพื่อไม่ให้เปียกฝน เกรงว่าจะได้รับความเสียหายก่อนที่จะนำไปสร้างใหม่ นอกนั้นยังติดตั้งกล้องวงจรปิดและสปอร์ตไลท์ ป้องกันการลักขโมยที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลากลางคืน

ในขณะเดียวกันองค์กรต่างและแกนนำภาคีคนรักษ์เมืองเก่าหวั่นว่า การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ของนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำเป็นพิธีเพื่อให้ลดกระแสลงเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำให้โบราณสถานเสียหายอาจลอยนวล

นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งเป็นอาคารไม้สักทองอายุเก่าแก่ถึง 131 ปี ถือเป็นโบราณสถาน เนื่องจากเข้าองค์ประกอบเป็นโบราณสถาน แม้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ระบุว่า โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

ดังนั้นอาคารนี้สร้างตั้งแต่ราวปี 2432 นับว่ามีอายุยืนนานมาก เป็นอาคารศิลปะแบบบอมเบย์เบอร์มาขนาดใหญ่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทำไม้มาแต่โบราณ จึงเข้าองค์ประกอบเป็นโบราณสถาน ซึ่งได้รับการคุ้มครอง หากผู้ใดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า ต้องได้รับโทษตามมาตรา 32 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องตรวจสอบและแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย. หรือประชาชนผู้พบเห็นสามารถแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำผิด กี่คนที่เป็นผู้มีอำนาจสั่งการให้ทุบอาคารดังกล่าว. โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้เป็นงบพัฒนาจังหวัดใครเป็นคนขอ ใครอนุมัติโดยมีการมอบอำนาจให้ดำเนินการได้อย่างไร

แหล่งข่าวในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ยืนยันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้ลงนามมอบอำนาจให้ สำนัก 13 ดำเนินการซึ่งการเปลี่ยนแปลง TOR จึงทำได้. ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าใครเป็นผู้สั่งการตามกฏหมายตัวจริงและขอบข่ายการรับผิดชอบไปถึงไหน ในวันที่19 มิถุนายน จะมีการแถลงข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อคลายปมสงสัย. อย่างไรก็ตามวันที่ 19 มิถุนายนเช่นกันนายศรีสุวรรณ จรรยา จะยื่นฟ้องหลายหน่วยงานรวมทั้งส่ง ปปช.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ สันที่ 18 มิถุนายน หลังเหตุการณ์ทุบอาคารประวัติศาสตร์เมืองแพร่ กลายเป็นกระแสข่าวดังไปทั้งประเทศ โดยจะมีการแถลงข่าวผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและเบื้องหลังการทำงานของบประมาณไปรื้ออาคารดังกล่าวโดยกำหนดให้มีการแถลงที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ในวันที่ 19 มิถุนายน.

ล่าสุดนายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล อดีตส.ส
จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย. ได้เปิดเผยข้อมูลทางเฟสบุคของตนเอง. ระบุว่าผู้เสนอโครงการคือ นางกัญญารัตน์ ท่วมไธสง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษรักษาราชการแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้เห็นชอบโครงการนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่. ผู้อนุมัติโครงการนางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์. ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กระทรวงมหาดไทย. โครงการอยู่ในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 รับผิดชอบโดยนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล. ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยไม่ต้องรายงานการศึกษาความเหมาะสมมีรายงานรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ ข้อมูลดังกล่าวมีผู้สนใจติดตามจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นหลักฐานจริงหรือไม่ ต้องรอการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเสียก่อน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน