X

ชลประทานทิ้งสะเอียบโมเดล ผุดโครงการยักษ์หวังเก็บน้ำยมเทียบแก่งเสือเต้น


เปลี่ยนจุดจากยมล่างเป็นฝายเตาปูน หนีสะเอียบประท้วง ชื่อโครงการสร้างฝายแต่จุน้ำมหาศาล NGOs ชี้ลวงโลกสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นน้ำยมอีกแล้วหวังจุน้ำมาก แต่ส่งผลกระทบท่วมป่าและชุมชนข้ามจังหวัด ชาวสะเอียบ ชาว อ.งาว ลุกฮือต้าน ตั้งป้อมรอรับกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดูพื้นที่จริง ขณะโครงการเก่าถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยม มีการศึกษาและพัฒนาร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะต้นน้ำยมที่จังหวัดแพร่ ชุมชนร่วมออกแบบพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง ภายใต้ชื่อ “สะเอียบโมเดล” มีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางในตำบลสะเอียบและใน อ.เชียงม่วนจ.พะเยา แทนโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ปริมาณน้ำกักเก็บเท่าเทียมแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นความเห็นชอบของทุกฝ่ายทั้ง กลุ่มคนในพื้นที่ กรมชลประทาน นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และ กองทัพภาคที่ 3 แต่โครงการดังกล่าวถูกชะลอหรือหยุดนิ่ง โครงการไม่คืบหน้า ในขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำปี้ ทางตอนเหนือจังหวัดแพร่ อยู่ใน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ใช้งบประมาณสูงถึง 1,650 ล้านบาท แต่ล่าสุดโครงการก่อสร้างไปเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะครบกำหนดสัญญาก่อสร้างแล้ว แต่ผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ทำสัญญาไว้ ทำให้โครงการอาจต้องมีการยกเลิกสัญญาและทำการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาใหม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกกว่า 3 ปี ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ การกักเก็บและฝันน้ำตามแผนของกรมชลประทานในปี พ.ศ. 2563 จึงกลายเป็นโครงการที่ประสบความล้มเหลว รวมทั้งโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำงาว ลำน้ำสาขาแม่น้ำยม ใน อ.งาว จ.ลำปาง กำลังได้รับผลกระทบชาวบ้านในท้องถิ่นออกมาต่อต้านรุนแรงขึ้นทุกขณะ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ชาวบ้านในอ.งาวได้ออกมาต่อต้านโครงการของชลประทานที่มีผลกระทบต่อที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนท้องถิ่น


ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาจาก กรมชลประทาน ว่า มีการปรับแผนการทำงานบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยจะมีการปัดฝุ่นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ ที่ ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ฝายเตาปูน” มีความจุน้ำจำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการวางแผนไปได้ระดับหนึ่งแล้วซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเดินทางมาดูสถานที่จริงโดยจะเข้าฟังบรรยายสรุปจากรมชลประทานที่ อบต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เวลา 14.00 น.วันที่ 19 มีนาคม นี้


นายสมมิ่ง เหมืองร้อง เครือข่ายต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เปิดเผยว่า ความแห้งแล้งในลุ่มน้ำยมทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เนื่องจากป่าไม้และธรรมชาติเปลี่ยนไป ชาวสะเอียบได้ร่วมศึกษากับนักวิชาการพัฒนาแผนการจัดการน้ำให้มีความจุน้ำโดยรวมเพียงพอ ประหยัดการก่อสร้างและไม่กระทบชุมชนและป่าไม้ เรียกว่า “สะเอียบโมเดล” ซึ่งมีการยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน และเขื่อนแม่ยมออกทั้งหมด แต่ล่าสุดพบว่า มีการออกแบบสำรวจระหว่าง อบต.เตาปูน กับกรมชลประทาน วางแผนพัฒนาโครงการสร้างเขื่อนซ้อนกับโครงการเขื่อนแม่ยมตอนล่าง แต่ขยับไปสร้างในเขต ต.เตาปูน ซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่จุน้ำได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแนวสันเขื่อนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย แล้วทิ้งโครงการที่ร่วมพัฒนากับชุมชนทั้งหมด แม้ตัวเขื่อนจะไม่ได้อยู่ในต.สะเอียบ แต่ระดับน้ำท่วมมาในต.สะเอียบอย่างแน่นอน โครงการของกรมชลประทานที่กำลังดำเนินการ เช่น เชื่อนกั้นน้ำงาว เขื่อนกั้นน้ำปี้ มีปัญหาทั้งสิ้น ยังมาคิดเรื่องเขื่อนเตาปูนอีก แทนที่จะรีบดำเนินการโครงการแบบมีส่วนร่วมก่อนกับไม่ทำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพทั่วไปของแม่น้ำยมในปัจจุบันมีความแห้งแล้ง จนส่งผลให้พืชฤดูแล้งไม่ได้ผลเนื่องจากน้ำต้นทุนไม่เพียงพอกินบริเวณกว้างกว่า 5 จังหวัด แต่ทว่า การจัดการน้ำที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการเน้นที่โครงการขนาดใหญ่จนส่งผลกระทบและไม่มีการดำเนินการให้สามารถใช้การได้แม้แต่แห่งเดียว ในขณะที่กรมชลประทานยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำที่ใช้แนวคิดร่วมกันระหว่างชุมชนกับทางราชการถูกเพิกเฉย จนทำให้เห็นการต่อต้าน เกิดขึ้นทั้งลุ่มน้ำจากประชาชน และ ความล้มเหลวของโครงการ การเข้ามาดูพื้นที่จริงของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ความมีการประเมินการทำงานทั้งระบบไม่ใช่ดูโครงการฝายเตาปูนเพียงแห่งเดียว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน