X

ชาวต้าผาม็อกลุกฮือต้านเหมืองแบไรท์ ขอคืนธรรมชาติ


ชาวตำบลต้าผาม็อก ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ลงมติตะเพิด สัมปทานทำลายป่าแหล่งน้ำออกไป

เวลา 10.00 น.วันที่ 25 กุมภาพันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยผู้ประกอบการคือนายกรัณย์พล อภิธนภูรินทร์ ผู้จัดการเหมือง บริษัทเหมืองศศิน จำกัด โดยมี นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.สปจ. ที่ 3 สาขาแพร่ ร่วมให้ข้อมูลและมี พ.อ.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รอง ผอ.รมน.จังหวัดแพร่ เข้าควบคุมสถานการณ์และให้แนวคิดในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม มีชาวบ้านในหมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 5 รวม 3 หมู่บ้านจำนวนกว่า 330 คนท่ามกลางการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น มีคนในเครื่องแบบได้ขู่ไม่ให้ชาวบ้านออกมาต่อต้านการทำเหมืองห้ามประท้วง เพราะจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังยืนยันการใช้สิทธิ์จากความเดือดร้อน น้ำในห้วยแห้งขอด ดินตะกอนทับถมจนลำห้วยใช้การไม่ได้ จึงพากันออกมาร่วมเวทีโดยแสดงเจตจำนงชัดเจนคือหยุดการทำเหมืองโดยเด็ดขาด


นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ได้เปิดเวที โดยได้กล่าวถึงกฎหมายที่ต้องเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขอสัมปทานและต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่รับผิดชอบ จากนั้นได้มอบให้นายกรัณย์พล อภิธนภูรินทร์ ผู้จัดการเหมือง บริษัทเหมืองศศิน จำกัด เป็นผู้กล่าวถึงเหตุผลในการขอสัมปทานและมาตรการป้องกันมลภาวะที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 256 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูเขาและป่าไม้ที่กำลังขออนุญาต จะทำการเปิดหน้าเหมืองจำนวน 48 ไร่ เป็นถนนในโครงการ 10 ไร่ แนวรอบสัมปทาน 10 เมตรรวม 9 ไร่ 2 งาน เป็นร่องน้ำ 2 งานคันทำนบคูระบายน้ำ 1 ไร่ 3 งานพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ 186 ไร่ พื้นที่กองเปลือกดิน บ่อดักตะกอน โรงแต่งแร่อีกจำนวน 96 ไร่ เหมืองแห่งนี้มีการขอสัมปทานเหมืองแร่ประเภท 2 เป็นแร่แบไรล์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันใต้ดิน ผู้ขอสัมปทานคือนายมณฑล สุริยาศศิน มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คือหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 8 รวม 3 กลุ่มบ้านคือบ้านศรีใจ บ้านลาน และบ้านอิม รวม 422 หลังคาเรือน
นายกรัณย์พล กล่าวด้วยว่า ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทได้ทำเหมืองบริเวณดังกล่าว และสร้างมลภาวะ ฝุ่นละออง เสียง และปล่อยดินตะกอน การพังทลายของดินไปทับถมลำห้วยจริง แต่กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขแต่ทางราชการไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรลงไปแล้วไข อย่างไรก็ตามในพื้นที่ขอใหม่จะไม่เกิดเหตุเช่นเดิม


ซึ่งคำกล่าวของผู้ประกอบการชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ฟังและไม่เชื่อว่าจะดำเนินการอย่างปลอดภัยได้จริงจากการกระทำที่ผ่านมานอกจากมลภาวะฝุ่นละออง ถนนพังไม่ซ่อม ลำห้วยตื้นจนไม่มีน้ำ นางสาวสมใจ ต๊ะเอ้ย อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 หมู่ 8 ต.ต้าผาม็อก อ.ลอง จ.แพร่ กล่าวว่า เราจะเลือกอะไร กับการเป็นอยู่อย่างปลอดภัยอากาศดี น้ำดี แต่ถ้าเราเลือกเหมือง ก็มีประสบการณ์มาแล้วคือ น้ำแห้ง ถนนพัง ฝุ่นละอองจนส่งผลกระทบกับต้นไม้ที่ปลูก ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ชาวบ้านเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติที่ปลอดภัยดีกว่าอยู่กับการทำเหมือง ซึ่งชาวบ้านที่ไม่ค้านคือพวกที่เป็นคนงานในเหมือง แต่คนส่วนใหญ่ไม่เอาเหมืองแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้แจงของเจ้าหน้าที่เหมืองและหน่วยงานรัฐชาวบ้านไม่เชื่อถือ และมีข้อเสนอให้จบในวันเดียวคือการคงประชามติไปเลยว่าเอาหรือไม่เอา ซึ่งต่อมาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ยินยอมให้มีการลงคะแนนได้ตามรายชื่อที่ลงทะเบียน ผลการลงคะแนนผู้ที่เห็นด้วยให้เปิดสัมปทานเหมืองจำนวน 98 คะแนนและผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 129 คะแนน เป็นอันยุติ ซี่งนายบุญอุ้ม อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ได้กล่าวสรุปและปิดการจัดเวทีโดยระบุว่าจะนำมติดังกล่าวประกอบไปกับรายงานการขอสัมปทานต่อไป


บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นเต็มไปด้วยความตึงเคลียด แต่ก็จบลงด้วยดี ในขณะที่มีการห้ามไม่ให้กลุ่มต้านนำป้ายออกมาประท้วง แต่ทางบริษัทเหมืองได้ส่งคนแต่งกายชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปติดป้ายมีข้อความสนับสนุนให้สร้างเหมืองจำนวนมากที่หน้า อบต.ต้าผาม็อก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน