X

ปิดตำนาน ตลาดโค้งกันทรารมย์ มนต์เสน่ห์ ถนนเส้น 226

ทุกการเดินทางมักมีเรื่องราวให้จดจำเสมอ และแน่นอนว่าสองข้างทางคือผู้สร้างเรื่องราวให้เราได้จดจำภาพแห่งความประทับใจ เช่นเดียวกับถนนเส้น 226 ซึ่งเริ่มจากโคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สิ้นสุดที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ โดยรอยต่อระหว่าง ศรีสะเกษ กับ อุบลฯ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำให้ผู้เขียนได้จดจำเช่นกัน นั่นคือ “ตลาดทางโค้ง” ก่อนข้ามทางรถไฟ พื้นที่บ้านหนองบัวไชยวาน ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนจดจำได้เสมอ เพราะทุกครั้งที่สัญจรผ่านจะมีรถจำนวนมากจอดแวะช๊อปของป่าที่วางขายอยู่เรียงราย

     

เพิงขนาดเล็กที่มุงด้วยสังกะสีบ้าง หญ้าคาบ้าง ผ้าสแลนกันแดดบ้าง ใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นเสา เอาไม้ไผ่มาทำโครงหลังคา แบ่งเป็นล็อคขาดเล็ก ใหญ่ มีโต๊ะวางขายที่สร้างขึ้นมาเองแบบง่ายๆ จากช่างมือสมัครเล่นวางในแต่ละล็อค มีสินค้ามาวางขาย อาทิ หมูยอ เส้นก๋วยจั๊บ หอม กระเทียมสินค้าขึ้นชื่อของอุบลฯและศรีสะเกษ รวมไปถึงของป่าตามฤดูกาล อาทิ ผลไม้ป่า เห็ด ผัก หน่อไม้ แมลง ขนม นมเนยและสินค้าจิปาถะ โดยแทบทุกร้านจะขายสินค้าหลักๆ ที่เหมือนกันหมด อาจจะแตกต่างบ้างในรายละเอียด ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะหยิบจับเข้ามาวางขายในร้านของตัวเอง  ภาพบรรยากาศเหล่านี้เองคือภาพคุ้นชินของผู้เขียนเมื่อขับรถผ่านตลาดทางโค้งแห่งนี้

แต่ทุกวันนี้ ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ขับรถผ่านตลาดทางโค้งเช่นเคย ภาพตลาดสินค้าพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง ที่เคยเป็นมนต์เสน่ห์ของทางโค้งจุดนี้ได้อันตรธานหายไป มีเพียงโครงการก่อสร้างบางอย่างเกิดขึ้นมาแทน ทราบมาภายหลังว่าจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ สายศรีสะเกษ-ห้วยขะยุง และเพื่อเก็บเรื่องราวของตลาดแห่งนี้ไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของถนนเส้น 226 ผู้เขียนจึงได้ถือโอกาสไปสอบถามแม่ค้าในตลาดแห่งนี้เพื่อที่จะทราบถึงความเป็นมา

          ทองมี คำสิริ ชาวบ้านหนองบัวไชยวาน ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ แม่ค้าที่ตลาดทางโค้งทางรถไฟ วัย 76 ปี เล่าว่า คนที่มาขายของที่นี่คนแรกชื่อ ยายบุญ พลบุญ ปัจจุบันอายุ 80 กว่าปีแล้วยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นชาวบ้านหนองบัวไชยวาน  เริ่มต้นจากที่วันหนึ่งยายบุญเข้าป่าไปเก็บเห็ด พอเก็บได้เยอะก็เลยนำมาวางขายที่นี่ (ชี้ไปยังจุดที่นำเห็ดมาวางขายครั้งแรก) เมื่อขายเห็ดหมดยายบุญก็กลับบ้าน แล้วก็บอกตนว่า “ขายเห็ดหมดแล้วนะทองมี พอดีมีคนขับรถเก๋งคันหนึ่งผ่านมาเขาเห็นเราสะพายตะกร้าเห็ดมา ก็เลยขอซื้อเหมาหมดเลย” พร้อมกับชักชวนตนไปขายเห็ดด้วยกัน ตนจึงชวนแม่บุตรดี แม่มาลี ซึ่งเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันนี่แหละ ไปขายด้วยกันโดยตอนแรกนั้นพวกเราพากันนั่งขายกับพื้น ไม่มีเพิงหรือโต๊ะสักตัวเลย

ทองมี คำสิริ

“เริ่มแรกยายขายเห็ดอย่างเดียว ตอนนั้นเห็ดราคากิโลละ 5 – 6 บาท ต่อมาก็เริ่มขายข้าวโพด ผลไม้ป่า เก็บอะไรได้ก็นำมาวางขาย ซึ่งตอนนั้นยายอายุ 30 กว่าปี หากนับอายุของตลาดแห่งนี้ก็ราว 40 ปีแล้ว และตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ฉันไม่เคยหยุดขายแม้แต่วันเดียว” ยายทองมี เล่าถึงความเป็นมาของตลาดให้ฟัง

 

ยายทองมีพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ก่อนที่การสนทนาของเราจะจบลงว่า “ยายก็ยังไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน แม่ค้าคนอื่นเขามีที่ขายกันหมดแล้ว ถ้าวันหนึ่งตลาดแห่งนี้ถูกยุบ ยายคงรู้สึกเสียดายมาก เพราะยายไม่อยากเลิกขาย ยายเสียดาย เสียดายมากๆ กว่าจะเป็นตลาดทางโค้งตรงนี้ขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่วันสองวัน”

ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ตลาดทางโค้งทางรถไฟจะกลายเป็นเพียงภาพประวัติศาสตร์ให้เราได้จดจำ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหลือคือความทรงจำ บนสองข้างทางแห่งนี้ และการบันทึกเรื่องราวในครั้งนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะชี้นำความคิดของผู้อ่านแต่อย่างไร เพียงแต่อยากบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของถนนเส้น 226 เท่านั้นเอง เพราะสองข้างทางคือเรื่องราวให้เราได้จดจำระหว่างการเดินทาง แต่ “เป้าหมาย” หรือ “ปลายทาง” คือสิ่งที่ผู้สัญจรผ่านไปมาต้องการที่จะไปถึงนั่นเอง.

อังสุมาลิน ราชม : รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

มนูญ มุ่งชู

มนูญ มุ่งชู

- ปริญญาตรี คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง - อดีตผู้สื่อข่าว เวบไซค์อีสานว๊อยดอทเนต (www.esanvoice.net ) เสียงชุมชน เสียงคนอีสาน ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น จ.สุรินทร์ - อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาธรรม จ.เชียงใหม่ (www. newspnn.com) - อดีตผู้สื่อข่าว สังกัดกองบรรณาธิการข่าว สำนักข่าวเนชั่น ภาคอีสาน จ.ศรีสะเกษ - อดีตบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.อีสานวอท์ช (Esanwatch) ปัจจุบัน - บรรณาธิการข่าว วารสารข่าว อบจ.ศรีสะเกษ (ที่นี่ศรีสะเกษ) - หัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา (จ.ศรีสะเกษ) ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) - Tel : 089 8855394 email : [email protected],[email protected] -Fb : manoon moongchoo -Line : esanwatch