X

ครบรอบ 28 ปี มทส. กับภารกิจการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)แถลงการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “SUT Re-profile 2020”ในโอกาสครบ 28 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยกับภารกิจการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องสุรนารี สุรสัมมนาคารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า ทิศทางของมหาวิทยาลัยภายใต้ยุทธศาสตร์ “SUT Re-profile 2020”มุ่งสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเป็นเลิศทางการวิจัย นำผลงานวิจัยมาใช้กับความอยู่ดีกินดีของคนในชาติ สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน การปรับแปลงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสังคมเชิงพาณิชย์ การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมถึงมีระบบธรรมาภิบาลและระบบคุณภาพควบคู่กับการมีกลยุทธ์ที่สามารถบริหารเชิงธุรกิจให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นเลิศทางวิชาการและเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการดำเนินการด้านพันธกิจสัมพันธ์กับสังคมด้วยการส่งเสริมการปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมการให้บริการวิชาการขยายผลงานวิจัยและสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น สังคม และภาคการผลิต รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 10 อุตสาหกรรมรวมทั้งการประยุกต์ใช้เพื่อร่วมแก้ปัญหาหลักของประเทศมากกว่าการวิจัยเพื่อองค์ความรู้หรือผลิตเอกสารวิชาการเพียงอย่างเดียว การสร้างความร่วมมือกับภาคการผลิต เพื่อทำวิจัยบนโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมให้ผลตรงกับการเพิ่มรายได้ของประเทศ

อย่างไรก็ดี มทส.กำลังจะเป็นที่ตั้งของ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ SUT Science City”ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 ในระดับภูมิภาคของประเทศให้เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ฐานทรัพยากรของอีสานตอนล่าง ส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วและผู้ประกอบการใหม่ หรือ New StartUp ด้วยการใช้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มทส. มี Biorefinergy โรงงานต้นแบบการจัดการขยะชุมชนและของเสียอันตรายแบบครบวงจรโรงงานต้นแบบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลแบบครบวงจร มี Creative Economy รวมถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็น Northeastern Food Innopolis หรือ เมืองนวัตกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากฟาร์มมหาวิทยาลัย มีโรงงานต้นแบบเกษตรแปรรูปและอาหารสำหรับ SME แบบครบวงจร มีศูนย์วิจัยมันสำปะหลัง โรงงานต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนบริการห้องปฏิบัติการทดสอบโดยศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในต้นปี 2562 คาดว่า มทส.จะมีจัตุรัสวิทยาศาสตร์ หรือ Science Square ณ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร จากความร่วมมือระหว่าง มทส. กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งใหม่ สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในจังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ “Project C วิทย์สร้างคน คนสร้างชาติ”และสำคัญที่สุด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชวินิจฉัยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีดูแลรับผิดชอบศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. คลองไผ่ และศูนย์ฝึกอบรม อพ.สธ. คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดแนวทางตามพระราชดำริ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน