X

ศธ.มุ่งวางรากฐาน-พัฒนาเด็กไทย นำร่องกว่า 2 พันโรง ปีหน้า

กรุงเทพฯ – รมว.ศธ. สั่งนำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2,000 โรง ตั้งแต่ปฐมวัย ในปี 63 เตรียม​งบฯ​ หนุนต่อเนื่อง ปีการศึกษา 2564 วางรากฐานทักษะภาษาเด็กไทยให้ดีขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศ  

8 พฤศจิกายน 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 โดยหลายประเทศพูดถึงไทยว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่มีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การจัดการศึกษาที่ยังต้องปรับปรุง เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงกับแนวทางที่ กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ โดยเฉพาะการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ

“หวังว่า การวางรากฐานด้านการศึกษา จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ เพราะในอนาคต ประเทศจะต้อง​เตรียมตัว เรื่องการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้น คนของเราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษา ตั้งใจว่าในระยะเวลาสั้น โรงเรียนประจำอำเภอ จะต้องสอน 2 ภาษา ซึ่งปัจจุบัน มีหลายโรงเรียนจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ แต่อาจจะยังขาดความเข้มข้น ไม่สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้ หากมีการจัดสรรงบประมาณลงทุน ในส่วนการสอนภาษาที่ 2 มากขึ้น จะส่งผลให้การวางฐานเรื่องทักษะภาษาของเราดีขึ้น แต่เนื่องจากงบประมาณที่มีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่จะพยายามขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รมว.ศธ. กล่าว

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะเริ่มที่กลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอ ประมาณ 2,000 แห่ง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ก่อน ซึ่งจะจัดตั้งแต่ชั้นปฐมวัย เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2564 จัดเตรียมงบประมาณ เพื่อรองรับไว้แล้ว

สำหรับอาชีวศึกษา จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะภาษาควบคู่กันไป ซึ่งเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะสรุปข้อมูลการจัดกลุ่มวิทยาลัย ให้เข้ากับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ มาให้ดู เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพในแต่ละสายงานให้เป็นหลัก ส่วนการจัดวิทยาลัย จะมองถึงบริบทในพื้นที่ด้วย เพราะต้องมีสถานที่ฝึกงานที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการใช้งบฯ ที่ตรงกับความต้องการ และยังสามารถผลิตแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทย ร่วงต่อเนื่องมา 3 ปี ล่าสุด อยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก ซึ่ง อยู่ในระดับต่ำมาก แม้ดีกว่ากัมพูชาและเมียนมา แต่ด้อยกว่า มาเลเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

หากเทียบเป็นรายภาค ภาคเหนือและภาคกลาง จะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เล็กน้อย ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีความเชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษมากที่สุดของประเทศ รองลงมา คือ จ.นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"