X

นักวิชาการ-เอกชน ชี้ถึงเวลาเกษตรกรไทยต้อง​ “เปลี่ยน”ความคิด

กรุงเทพฯ – นักวิชาการ-ภาคเอกชน แนะ เกษตรปรับเปลี่ยนแนวคิดและใช้เทคโนโลยี ช่วยยกระดับภาคเกษตร เลิก ปลูกเยอะแต่ได้น้อย

25 ตุลาคม 2562 รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างร่วมเสวนาหัวข้อ ‘เกษตรไทย 4.0 ฝ่าคลื่นดิสรัปต์สู่โอกาสใหม่’ ในงานสัมมนา Business Today forum “ทรานส์ฟอร์มเกษตรไทย ฝ่าคลื่นดิสรัปต์ เกษตรอัจฉริยะ Big Data” ว่า ภาคเกษตรไทยมีปัญหาและจุดอ่อนอยู่หลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ มีบุคลากรมาก แต่สวนทางเมื่อเทียบกับผลผลิตและรายได้ ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ ทำให้ได้ราคาน้อยกว่าสินค้าที่แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

แนวทางแก้ของปัญหา คือ จะทำอย่างไรให้ผลผลิตและราคาออกมาสูงขึ้น เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรในรูปแบบเดิมอยู่ ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้ราคาตกต่ำ  ข้าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จึงไม่ควรจะผลิตเป็นข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ควรต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆได้ เช่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์  ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นคุณภาพ ปลอดสาร ต่างประเทศมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการตรวจสอบสถานที่ผลิต เพื่อจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เกษตรกรไทยยังคงขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่

“ถ้าสามารถเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรได้ จะทำให้สามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตได้อย่างสิ้นเชิง หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การให้เปลี่ยนจากการปลูกพืชที่ต้องใช้พื้นที่มาก มาปลูกเมล่อน หรือ แอสพารากัส ที่ราคาสูง เมื่อเทียบกับพืชผลอื่นในปริมาณเดียวกัน และสามารถส่งขายสินค้าออนไลน์ได้ แต่จะต้องไม่ปลูกให้มากเกินไป เพราะจะส่งผลทำให้ราคาตก เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ถ้าไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี จนถูกเทคโนโลยีแทรกแซง กระทั่งไม่สามารถจะประกอบธุรกิจได้อีกต่อไป” รศ.ดร.สมพร กล่าว

ขณะเดียวกัน ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะมีส่วนสร้างรายได้ให้เกษตรกร การนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกร ในการรวบรวมข้อมูล เช่น ศัตรูพืช ปริมาณปุ๋ย ที่จะสามารถควบคุมดูแลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

‘ไอบีเอ็ม’ แนะ ใช้เทคโนโลยียกระดับภาคเกษตรไทย

นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคลาวด์และโซลูชัน บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เสริมว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการในภาคเกษตร จะเป็นเครื่องมือแก้ไขที่ปัญหา ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เช่น ถ้ารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศล่วงหน้า จะเป็นสิ่งสำคัญในการทำการเกษตร  ไอบีเอ็ม มีข้อมูลอยู่ทั่วโลก และมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะสามารถพยากรณ์ได้อย่างละเอียด และสามารถทราบข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้าได้ 15 วัน จะทำให้เกษตรกรวางแผนทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับ AI ได้ด้วย

ไอบีเอ็ม ยังมีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันและประมวลผล จะเห็นข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตร แม้แต่พื้นที่ใดเหมาะกับการให้ปุ๋ย  รวมถึงพยากรณ์ได้ว่า เมื่อไหร่ควรปลูกอะไร และเมื่อไหร่ควรเก็บเกี่ยวผลผลิต จะทำให้การเพาะปลูกได้ผลดี สามารถลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรได้

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคลาวด์และโซลูชัน บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ถ้าประเทศไทยตั้งเป้า จะก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของประเทศเกษตรกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดภาระการเป็นหนี้ได้อีกด้วย

หลายประเทศใช้วิธีเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการนำเสนอว่า เป็นสินค้าออร์แกนิก แต่ต้องสามารถการันตีได้ว่าเป็นออร์แกนิกจริง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยตรวจสอบได้ว่า เป็นสินค้าออร์แกนิคจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความต้องการของตลาด ถ้าเรารู้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่ต้องการในพื้นที่ใด และช่วงเวลาใด จะช่วยวางแผนในการเพาะปลูก ทำให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน  วันนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปภาคเกษตรไทย ด้วยการลดจำนวนคน แต่เพิ่มเครื่องมือ และระบบเทคโนโลยีเข้าไปจัดการ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"