X

‘โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จ.ขอนแก่น’ แหล่งพลังงานหลักแห่งใหม่ของภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 3 ลำดับแรก และทั่วทั้งภาคยังมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และยังถูกวางเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม ทุกโครงการล้วนต้องการพลังงานไฟฟ้าในการพัฒนา และเป็นปัจจัยหลัก ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการดำรงชีวิตในยุคเทคโนโลยี ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเร่งแสวงหาแหล่งพลังงานรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอและมั่นคง
ในภาคอีสาน มีการนำเชื้อเพลิงหลากหลายมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ แสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ ชีวมวลที่มาจากผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสินภูฮ่อม หรือแหล่งที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งไปสู่ทั่วทุกพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น และใกล้เคียง 16 จังหวัด

โรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1-2 ใช้งานมายาวนานกว่า 30 ปี และจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2568 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) กฟผ.จึงเตรียมก่อสร้างโครงการ โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน เสริมต่อพลังงานไฟฟ้าในภาคอีสานให้ต่อเนื่อง
‘โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน’ เป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง โดยจะนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง มาผลิตไฟฟ้า จึงมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงน้อยลง และได้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้น จึงมีการปล่อยมลสารลดลงตามไปด้วย
มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 650 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หรือบริเวณเดียวกับพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพองเครื่องปัจจุบัน ซึ่งมีระบบส่งไฟฟ้าและพื้นที่ที่มีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าใหม่แห่งนี้ จะช่วยรักษาระดับกำลังผลิต และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในภาคอีสาน รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ และมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน หรือโครงการใด ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม อย่างเปิดกว้าง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ ต่อวิถีชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกความเห็นหรือข้อเสนอแนะ ประเด็นข้อห่วงกังวล จะมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงการดำเนินโครงการให้สมบูรณ์ที่สุด ทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน ตลอดจนให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างแนบสนิท กลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวิถีชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"