X

หวังภาพยนตร์สารคดี ’วงแหวนใต้สำนึก’ ช่วยทำให้คนไทยเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น

ตามที่ วันนี้ (9 ตุลาคม 2562) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมและแถลงข่าว ‘สื่อสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแก่ประชาชน’ เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ตุลาคมของทุกปี  ในงานมีการเปิดตัว ภาพยนตร์สารคดีชุด ‘วงแหวนใต้สำนึก’ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตอน โดยผู้กำกับชื่อดังมากความสามารถ 6 คน ซึ่งจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในเดือนมกราคม ปีหน้าดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตจำนวนมาก ดังนั้น บุคคลรอบข้าง สังคม สื่อมวลชน และทุกภาคส่วน จำเป็นจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ และดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต ให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสามารถมีความสุขได้เหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น โดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องร่วมให้ความรู้ด้วย อย่างการผลิตภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ที่จะสื่อให้สังคมยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้เกิดพัฒนาการที่ดี ลดการซึมเศร้าและฆ่าตัวตายด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในอดีต ผู้ป่วยจิตเวชมักถูกสังคมมองว่า เป็นตัวตลก น่ากลัว น่ารังเกียจ ขณะที่สื่อก็นำไปตีความผิด ๆ ถ้าทำให้สังคมปรับเปลี่ยนความคิด สร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องว่า ผู้ป่วยทางจิตต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า  “ประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการทางจิตเวช 1 ใน 5 หรือ 5 คน จะมีผู้ป่วย 1 คน ซึ่งอาจไม่รู้ตัว เชื่อว่าการสร้างความตระหนักรู้นี้ จะทำให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตเหล่านี้ได้”ขณะที่ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะแดป ครีเอชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้จัดทำภาพยนตร์สารคดีชุด ‘วงแหวนใต้สำนึก’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจืตเวช เปิดเผยว่า ภาพยนตร์ทั้ง 6 ตอน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้เข้าใจผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ด้วยการนำกรณีศึกษาจากผู้ป่วยจริงมาเป็นต้นเรื่อง ซึ่งบางคนเคยพยามยามฆ่าตัวตายมาแล้ว

ได้รับความร่วมมือจากผู้กำกับชื่อดัง 6 คน อย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, บัณฑิต ทองดี, เจนไวยย์ ทองดีนอก, พัฒนะ จิรวงศ์ มาสร้างสรรค์ภาพยนตร์สารคดี โดยได้รับข้อมูล ทำเวิร์คช็อป และการตรวจสอบจากแพทยสภา เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดทำ เขียนบท และดำเนินเรื่อง เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวมาสู่ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ เชื่อมั่นได้ว่าภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ จะมีทั้งสาระและความบันเทิง สะท้อนปัญหาของผู้ป่วยด้านจิตเวช ได้อย่างครอบคลุมและถูกต้อง ทั้งการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ปัญหาวัยรุ่น วัยนักศึกษา วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ

“เป้าหมายของภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่ประชาชนและคนรอบข้างของผู้ป่วยทางจิต ให้สามารถรับรู้และเข้าใจถึงอาการของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที บางรายอาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต” นายอดิศักดิ์ กล่าวส่วน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยพีบีเอส เป็นสื่อสาธารณะ มีความมุ่งเน้นที่จะนำเสนอเนื้อหาและข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เชื่อว่าภาพยนตร์สารคดีชุดวงแหวนใต้สำนึกนี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมลุกขึ้นมาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตมากยิ่งขึ้น โดยวางแผนจะออกอากาศ ในช่วงต้นมกราคม ปี 2563

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"