กรุงเทพฯ – ‘ชัยธวัช-พิธา’ ร่ายยาวแถลงสู้คดียุบพรรคก้าวไกลครั้งสุดท้าย ย้ำ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดี ส่วน กกต.ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยืนยัน เจตนารมณ์พรรค ต้องการสร้างสมดุลระหว่าง ประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งข้อต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงหลักการและเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล
โดยนายชัยธวัช แถลงถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล ซึ่งประกอบด้วย
1.การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติใด ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไปขยายเขตอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2.การยื่นคำร้องในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การเสนอคดีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้สั่งยุบพรคก้าวไกลตามมาตรา 96 วรรค 1 (1) และ (2) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิชอบด้วยกฎหมาย
3.การเสนอคำร้องนี้ เป็นข้อหาที่แตกต่างจากข้อหาในคดีเดิม ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ กกต.กลับไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใด ๆ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้นก่อนการเสนอคดีต่อศาล คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการวินิจฉัยคดีนี้
4.นอกจากการนำเสนอนโยบาย แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่น ๆ ตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เพราะการกระทำใดจะเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้ จะต้องเป็นการกระทำโดยมติของคณะกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าถือให้เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถือว่าเป็นการกระทำของพรรคด้วย
5.การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหาทั้งหมด มิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการระบอบการปกครอง ทั้งกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 ไม่ได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือการกระทำโดยใช้ความรุนแรง เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสิ้นสุดลง ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบการปกครองอื่น หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง แต่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังกฎหมายประกาศใช้
การเสนอนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้หาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้มั่นคงดำรงอยู่ต่อไป
ส่วนการติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็น ของนายพิธา เมื่อ 24 มีนาคม 2566 หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว มีการสื่อความหมายอย่างชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 มิใช่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า ในฐานะผู้แทนราษฎร พร้อมจะสนับสนุนให้มีการนำความคิดเห็นของประชาชนเข้าไปอภิปรายในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ
สำหรับกรณี สส.พรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา 112 นั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย
ขณะที่กรณี สส.พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ การกระทำผิดตาม มาตรา 112 ต้องได้รับโทษเป็นรายบุคคล หาได้ถือว่าบุคคลและพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด
6.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ในบางประเทศ การยุบพรรคสามารถทำได้ แต่จำต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในการพิทักษ์รักษาหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ หรือเมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่สามารถยับยั้งผลของการกระทำที่มีความร้ายแรงได้อย่างทันท่วงที มิเช่นนั้นมาตรการการยุบพรรคการเมือง จะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
7.แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรค ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 97 บัญญัติรับรองไว้ การจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น และระยะเวลาในการจำกัดสิทธิ ก็จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน
8.การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรค ต้องพอสมควรแก่เหตุ เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 กรณียุบพรรคเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เป็นเวลา 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ
9.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งในคดีนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้น ในช่วงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น ไม่ใช่รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้
หลังจากนั้น นายพิธา แถลงต่อถึงเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการนำองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ
ขณะเดียวกัน มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ มีรูปแบบเป็นราชอาณาจักร โดยพระมหากษัตริย์ไม่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองด้วยพระองค์เอง ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องมิได้ การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบอย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: