X

เลือก ส.ว.2567 : เลขาฯ กกต.ชี้ จัดการฮั้วได้ทันที ไม่ต้องมีคนร้อง สื่อ-ปชช.ร่วมสังเกตการณ์ได้

กรุงเทพฯ – เลขาธิการ กกต.ยังมั่นใจ จะมีผู้สมัคร ส.ว.ถึงแสนคน ย้ำมาตรการป้องกันฮั้วแน่น ถ้าพบทุจริตสอบได้ทันที ไม่ต้องรอคนร้อง การันตีคนขึ้นบัญชีสำรอง ส.ว.ชุดที่แล้ว สมัครรอบนี้ได้ ยืนยัน ประชาชน-สื่อ ร่วมสังเกตการณ์ได้

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง (กกต.)​ ยืนยันว่า กระบวนการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะนี้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงาน ไม่มีอะไรน่าหนักใจ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร อย่างดี โดยในระดับอำเภอกับจังหวัด เท่าที่ทราบ ได้ประสานงานและให้ความร่วมมือกับ สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด มาตลอด

ส่วนยอดผู้รับเอกสารการสมัคร ตอนนี้อยู่ที่กว่า 2 หมื่นคน กกต.ไม่ได้วางเป้าว่า จะมีผู้สมัครมากแค่ไหน เพียงแต่คาดการณ์ว่า จะมีผู้สมัครถึงแสนคน และยังมั่นใจตามที่คาดหวังไว้ เพราะยังมีเวลา

การสมัครครั้งนี้ ผู้สมัครจะได้รับหมายเลขเรียงตามลำดับ ดังนั้น สมัครวันไหน ได้ลำดับที่เท่าไหร่ ระบบก็จะรันข้อมูลไปตามตัวอักษร จึงอาจจะมีไปรับใบสมัครในช่วงวันท้าย ๆ ของการรับสมัคร ซึ่งการรับสมัครจะมีไปจนถึงวันที่ 24 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าใครจะสมัครก็ได้ แต่เป็นเรื่องของผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความตั้งใจ ซึ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งตั้งใจที่จะมาเป็น ส.ว. เเพียงแต่ยังไม่ได้เข้ามารับเอกสารรับสมัครเท่านั้น

ส่วนข้อสงสัย กรณีผู้มีรายชื่อสำรอง ส.ว.ชุดที่แล้ว จะสามารถลงสมัครส.ว.ในครั้งนี้ได้หรือไม่ เลขาธิการ กกต.อธิบายว่า ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว. กำหนดไว้ว่า ‘ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่ง​เป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ​ ปี 2560’ ในกรณีนี้ เมื่อยังไม่ได้เป็น ส.ว. ก็ถือว่าสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว.ใหม่ได้

ประชาชน-สื่อ ร่วมสังเกตการณ์นับคะแนนได้
สำหรับการสังเกตการณ์การนับคะแนนนั้น กรณีสถานที่เลือกอยู่ในอาคาร สำนักงาน กกต.จะถ่ายทอดภาพทางกล้องวงจรปิด ซึ่งสื่อมวลชนสามารถติดตามและถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ถ้าสถานที่เลือกอยู่ในพื้นที่โล่ง ประชาชนก็สามารถไปสังเกตการณ์ได​​

ขณะที่ผู้สมัครด้วยกันเองจะเห็นการนับคะแนนอย่างใกล้ชิด หากเห็นว่าการนับคะแนนไม่ถูกต้อง สามารถประท้วงได้ โดยกรรมการเลือกจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าไม่พอใจต้องมายื่นร้องต่อ กกต. แต่ถ้าไม่ประท้วงในขณะนั้น จะไม่สามารถเข้ามายื่นร้องในภายหลังได้ เพราะถือว่านั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว

สอบฮั้วคะแนนได้ทันที ไม่ต้องมีคนร้อง
เมื่อถามย้ำว่า กกต.มีมาตรการดูแล เรื่องผู้สมัคร ส.ว.ฮั้วคะแนน หรือขอคะแนนกันหรือไม่ นายแสวง เปิดเผยว่า ถ้าสมัครเข้ามาเพื่อเลือก หรือคนนั้นไม่มีคะแนนเลย ก็ผิดสังเกตแล้ว แต่กฎหมายเขียนว่าอาจลงคะแนนให้ตัวเองด้วยก็ได้ ดังนั้น คำว่า ‘อาจลง’ หรือจะไม่ลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่พฤติการณ์แบบนี้ต้องมาสืบอีกครั้ง แต่โดยกระบวนการ ควรจะทราบก่อนแล้วว่า กลุ่มนี้มีความเคลื่อนไหวอย่างไร อย่างที่บอกว่า การพิจารณาเรื่องสำนวนทุจริตต้องใช้เวลา ที่ต่างจากการพิจารณาการลงคะแนนและการนับคะแนน

“เรามีศูนย์ข่าวอยู่ทุกจังหวัด มีการเคลื่อนไหวก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีการให้มีการเลือก ส.ว. ทั้งให้ความรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแล้ว ยังทำเกินที่เราให้ความรู้ไปนั้นก็ผิด เมื่อมีความปรากฏว่ามีการฮั้ว เราดำเนินการได้ ไม่ต้องรอคนมาร้องเรียน” นายแสวง ยืนยัน

ยึดความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 
เมื่อถามว่า หลังจาก กกต.แก้ไขระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัครทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง เลขาธิการ กกต.ระบุว่า เป็นเพียงอารมณ์ของสังคม ทั้ง ๆ ที่ กกต.ทำตามกฎหมาย ซึ่งสะท้อนไปถึงคนร่างกฎหมาย ว่าร่างกฎหมายให้ประชาชนไม่เข้าใจ แต่เรามีหน้าที่ทำตามกฎหมาย ขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำนั้น ทำตามกฎหมาย ที่ทำเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้ามามีส่วนร่วม อย่างน้อยประชาชนก็รับฟังเสียงประชาชน ส่วนจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่

ส่วนที่มีคำแนะนำจากนักวิชาการ ต้องการให้ผ่อนคลายระเบียบเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมบรรยากาศความกลัว เช่น การจัดเวทีให้ผู้สมัคร นายแสวง ชี้แจงว่า ระเบียบอยู่บนพื้นฐานการออกแบบตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ได้ ส.ว.เป็นคนแบบไหน จะเดินมาสมัครคนเดียวก็ได้ ไม่ใช่เกาะกลุ่มกันมาสมัคร และเพื่อความเสมอภาค เพราะเขาไม่ได้เลือกจากสิ่งที่คุณแสดงความเห็น แต่เลือกจากประสบการณ์ กระดาษที่แนะนำตัว เราออกกติกาเพื่อคนแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ได้ออกให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่คนที่เป็นผู้สมัครต้องอยู่ในเกณฑ์นี้ อย่ามองมุมเดียว มันมีหลายมิติ เราต้องยืนบนความถูกต้อง

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"