X

เช็กที่นี่! เปิดชื่อ 203 แอปฯ อันตราย! ดูดเงิน ล้วงข้อมูลส่วนตัว

กรุงเทพฯ – ดีอีเอส เปิดรายชื่อแอปพลิเคชันอันตราย 203 แอปฯ เตือน ประชาชนอย่าหลงเชื่อ อย่าดาวน์โหลด มิจฉาชีพจะล้วงข้อมูลส่วนตัวและอาจสูญเงิน ถ้าเผลอติดตั้งแล้ว ให้ถอนออกทันที

วันที่ 20 มกราคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตราย ที่มาในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ซึ่งดีอีเอส และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พบปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน ที่จะสามารถขโมยข้อมูล หรือควบคุมเครื่องโทรศัพท์ได้ โดยในปี 2565 มีการเผยแพร่รายชื่อแอปพลิเคชันอันตรายเหล่านี้ ซึ่งมีมากกว่า 200 รายการ ทั้งในระบบ iOS และ Android ตามที่ปรากฎใน Facebook ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Facebook ของ สกมช. (NCSA THAILAND) จึงขอให้ผู้ใช้งานตรวจสอบ หากพบแอปพลิเคชันดังกล่าว ให้ถอนการติดตั้งโดยทันที และควรอัปเดตระบบเครื่องโทรศัพท์ของตนเอง ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ

พร้อมแจ้งเตือนประชาชน ระมัดระวังการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ ลงบนโทรศัพท์มือถือ เพราะอาจจะไปเจอมัลแวร์อันตราย ซึ่งจะถูกดูดข้อมูลส่วนบุคคล หรือถูกรีโมตเข้ามาควบคุมมือถือ อาจจะถูกโอนเงินออกไป หรือที่เรียกว่าแอปดูดเงิน และถ้าพบแอปฯ เหล่านี้อยู่ในมือถือ ให้รีบลบออก ขณะนี้ ดีอีเอสได้ประสานกับทั้ง Play Store และ App Store แล้ว ไม่ให้มีแอปฯ เหล่านี้ในระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงกลแล้วโหลดเข้าไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการสร้างเอสเอ็มเอส (SMS) โดยใช้ชื่อเดียวกับผู้ส่ง (Sender Name) ที่เป็นธนาคาร แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้รับ SMS เข้าใจผิด และหลงเชื่อว่ามาจากหน่วยงานจริง ซึ่งโดยทั่วไปหน่วยงานส่วนใหญ่ได้ออกประกาศว่า จะไม่มีการส่งลิงก์ผ่าน SMS ให้ผู้รับบริการ จึงขอเตือนให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อคลิกลิงก์ที่มากับ SMS หรือเพิ่มเพื่อนจากไลน์ไอดี โดยให้สังเกตรูปแบบ เนื้อหา ที่อาจเป็นสิ่งที่ดีเกินจริงหรือทำให้หวาดกลัว เช่น “คุณได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 50,000 บาท คลิกลิงก์…” หรือ “โปรดยืนยันรหัสผ่าน มิฉะนั้นบัญชีของท่านจะถูกระงับการใช้งาน ติดต่อไลน์ไอดี…” โดยอาจจะตรวจสอบข้อมูล จากหน่วยงานที่ถูกระบุว่าส่ง SMS มาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สกมช. ได้รวบรวมรายชื่อบริษัทที่ส่ง SMS ปลอมเหล่านี้ เพื่อหยุดการทําธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ผู้ให้บริการมือถือทุกค่าย และธุรกิจที่ทำ SMS ไม่ปล่อยให้เกิดการปลอมชื่อออกมา หากทําสําเร็จก็จะไม่มี SMS ปลอมอีก
เรื่องการแอดไลน์ก็เช่นเดียวกัน เพราะมีการส่งไลน์ปลอมให้เข้าไปกดแอด เห็นชื่อ เห็นรูป อาจจะเป็นคนที่เรารู้จัก หรือเป็นบริษัท หน่วยงานที่เรารู้จัก เพราะฉะนั้นขอให้ระวังเช่นเดียวกัน

“อย่าไปแอดไลน์ อย่าไปคุยกับคนเหล่านี้ ข้อความมาที่ส่งมาก็จะเป็นของที่ดีเกินจริง ได้ประโยชน์มากเกินควร เช่น อาจจะให้กู้เงิน 50,000 บาท ให้ขายสินค้าในราคาพิเศษถูกมาก ๆ หรือหลอกว่าจะมีรายได้พิเศษให้เรา ถ้าเราไปทํางานกับเขา ไปลงทุนกับเขา พวกนี้ดีเกินจริง ให้คิดไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางไลน์ปลอม หรือ SMS ปลอม ก็อย่าไปยุ่ง อย่าไปกดลิงก์ อย่าไปให้ข้อมูลเด็ดขาด” นายชัยวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะติดต่อกับหน่วยงานใด ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรติดต่อผ่านแอปพลิเคชันที่ได้ตรวจสอบแล้วว่า เป็นแอปพลิเคชันจริง หรือไปที่เว็บไซต์หน่วยงานนั้นจริง ๆ วิธีการสังเกต คือ เป็นเว็บที่ลงท้ายด้วย .th ซึ่ง th คือ Thailana (ไทยแลนด์) เป็นเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย จะตรวจสอบยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้ จึงขอให้ประชาชนดูที่ แอปฯ ที่คุ้นเคย และใช้งานอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้ว เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ถูกหลอกให้สูญเงินด้วย

สำหรับแอปที่ถูกระบุว่าเป็นแอปมัลแวร์อันตราย อาทิ 4K Pro Camera, 4k Wallpapers Auto Changer, All Language Translate, Auto Sticker Make Studio, CallMe Phone Themes, Easy PDF Scanner, Paper Doc Scanner, Password Manager

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"