X

กฟผ. ผนึก ญี่ปุ่น ศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนฯ สู่ความเป็นกลางคาร์บอนของโลก

ลำปาง – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ร่วมต้อนรับ คณะจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชม การดำเนินงานผลิตไฟฟ้า กฟผ. แม่เมาะ หารือศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในเหมืองแม่เมาะ เพื่อความร่วมมือด้านพลังงาน และการผลักดันประเทศก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. คณะผู้บริหาร กฟผ. แม่เมาะ ปตท.สผ. และกรมการพลังงานทหาร ร่วมให้การต้อนรับ คณะจาก กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น นำโดย Mr. Izuru Kobayashi รองอธิบดีฝ่ายนโยบายระหว่างประเทศด้านความเป็นกลางคาร์บอน (Deputy Director-General for International Policy on Carbon Neutrality) คณะผู้บริหารองค์การความมั่นคงด้านโลหะและพลังงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมชมพื้นที่เหมืองแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. จังหวัดลำปาง

โดยมี นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กฟผ. และตัวแทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมให้ข้อมูลโครงการศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. เปิดเผยว่า การประชุมและเยี่ยมชมพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศได้หารือเรื่องศักยภาพและความเป็นไปได้ของโครงการการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ เบื้องต้นคาดว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เหมืองแม่เมาะในระดับลึก มีศักยภาพในการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาพของเหลวได้ ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและจำเป็นต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมต่อไป หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยให้การพัฒนา CCS เป็นรูปธรรมมากขึ้นและผลักดันให้ประเทศไทยและโลก ก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ยั่งยืนต่อไป

ด้านตัวแทนกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวว่า ศักยภาพของโครงการพัฒนา CCS ในพื้นที่
เหมืองแม่เมาะ มีความสำคัญและตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาในระดับประเทศ หลังจากสำรวจในเชิงลึกเพิ่มเติมแล้ว ต้องหาโอกาสในเวทีระดับประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย หารือความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการต่อไป หวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมมือกับ กฟผ. ทั้งการพัฒนา CCS และเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องศักยภาพของชั้นหินในเหมืองแม่เมาะสำหรับการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ รายงานความก้าวหน้าการสำรวจแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแอ่งเหมืองแม่เมาะ แม้เป็นการศึกษาเบื้องต้นจากหินโผล่ (Outcrop) แต่เป็นการศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการทดสอบจริงกับตัวอย่างหินสำหรับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีระยะความลึกของชั้นหินกว่า 1 กิโลเมตร เบื้องต้นพบว่า มีความพรุนเหมาะสมและมีหินปิดทับที่สมบูรณ์ ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาคุณสมบัติของชั้นหินปิดทับ (Cap Rock) และชั้นหินปิดทับ (Reservoir Rocks) เพื่อสรุปศักยภาพและความเหมาะสมต่อไป

การเข้าเยี่ยมชมและประชุมหารือของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการที่กระทรวงพลังงาน (พน.) และรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประชุมความร่วมมือด้านพลังงาน Japan-Thailand Energy Policy Dialogue (JTEPD) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่า พื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ มีศักยภาพในการดำเนินโครงการ CCS ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือภายใต้การนำเสนอข้อมูลโครงการ (White Paper) ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"