X

บพท.ดัน ‘เชียงใหม่-ลำปาง’ สู่ ‘เมืองเรียนรู้ระดับโลก’ ปี 2566 เพื่อความอยู่ดีมีสุข

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ชูองค์ความรู้งานวิจัยท้องถิ่นศึกษา เป็นรากฐานสร้าง จ.เชียงใหม่-ลำปาง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นถิ่น ปูทางสู่ความเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้โลกของยูเนสโก ต่อเนื่องจาก จ.พะเยา

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยเส้นทางความสำเร็จของเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม ตามแนวทางการให้การสนับสนุนของ บพท. ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ค้นคว้าข้อมูล ในพื้นที่เป้าหมาย หรือให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘ท้องถิ่นศึกษา’ ด้วยการค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่น คุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วเปลี่ยนคุณค่าไปสู่มูลค่า เป็นรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ การสร้างงาน สร้างอาชีพ ในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าทางสังคม (Social Value Model)

“เมืองแห่งการเรียนรู้ คือ รากฐานสำคัญยิ่งของการพัฒนายกระดับขึ้นสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ที่พลเมืองหลากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขโดยทั่วหน้า ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ไม่เพียงต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่นศึกษา แต่ต้องพัฒนากลไกกระบวนการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ครอบคลุมทุกมิติในพื้นที่ ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และมิติด้านทุนวุฒิ แล้วยกระดับขึ้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางความรู้ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นที่ ถึงระดับประเทศ” ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม กล่าว

ด้านนางสาวโศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ รักษาการหัวหน้าทีมการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงเทพฯ ระบุว่า องค์ประกอบสำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามกรอบของยูเนสโก จะให้ความสำคัญอย่างมากกับด้านการศึกษา เนื่องจากการศึกษานับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ หัวหน้าแผนงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้พะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา กำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จที่ผลักดันให้ จ.พะเยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ตามมาตรฐานยูเนสโก ประจำปี 2565 เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัด ให้มาขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

“กลไกกระบวนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากการทำความเข้าใจกับเมืองพะเยา ออกแบบพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ โดยมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้ให้การรับรองหลักสูตร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือต่อยอดด้านการศึกษา โดยมีเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ จากรายได้และความสุข รวมทั้งคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม”

ดร.ผณินทรา กล่าวด้วยว่า ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้พะเยา ได้รับการรับรองจากยูเนสโก น่าจะพิจารณาจากรายได้พลเมืองพะเยาโดยเฉลี่ยดีขึ้นระหว่าง ร้อยละ 5-35  ขณะเดียวกัน คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น จากการประเมินของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง อีกทั้งอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงเกือบร้อยละ 10

ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จ.ลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะหัวหน้าแผนงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ลำปาง ภายใต้การสนับสนุนของ บพท .เปิดเผยว่า จะพยายามผลักดันให้จังหวัดลำปาง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตามมาตรฐานยูเนสโก ประจำปี 2566 ด้วยการขับเคลื่อนงานศึกษาวิจัยด้านท้องถิ่นศึกษาครอบคลุม 5 มิติ คือ ภูมิหลัง-ภูมิเมือง-ภูมิธรรม-ภูมิวงศ์-ภูมิปัญญา เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของพื้นที่ สำหรับจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง และเป็นรากฐานการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ ออกแบบกิจกรรม ตลอดจนการออกแบบชุดหลักสูตรเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ บนหลักการของการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่

“จากการศึกษาวิจัยท้องถิ่นศึกษา ทำให้รู้ว่าลำปางเป็นเมืองหลวงของครั่ง ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด อีกทั้งยังมีโรงงานแปรรูปครั่งกระจุกตัวอยู่มากที่สุดของประะเทศ โดยผลผลิตจากครั่งสามารถนำไปต่อยอดทำอาหาร ไปทำสีผสมอาหาร อีกทั้งยังนิยมนำไปทำสีย้อมผ้ากิโมโนในประเทศญี่ปุ่น”


ส่วน ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ หัวหน้าโครงการ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. ในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นนครแห่งการเรียนรู้ ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยท้องถิ่นศึกษา หรือ ‘ปูมเมืองเชียงใหม่’ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนในเมืองเชียงใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น

“เราคาดหวังว่าผลการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ด้วยประเด็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น คนเชียงใหม่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ยังจะทำให้เมืองเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้หรือ Unesco Global Network of Learning Cities-GNLC ในปี 2566 อีกด้วย”

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"