X

กอนช.เตรียมรับมือพายุ ‘โนรู’ คาดเป็น ‘ดีเปรสชัน’ เข้าโซนอีสานล่าง 29 ก.ย.65

กรุงเทพฯ – ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคอีสาน กอนช. ซักซ้อมพร้อมรับมือพายุโนรู ประเมิน ลดระดับเป็นดีเปรสชัน ขณะเข้าภาคอีสานตอนล่าง 29 ก.ย.นี้ พร้อมวางแผนเร่งระบายน้ำ ป้องกันมวลน้ำกระทบประชาชน ระดมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง ย้ำ จะแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนให้เร็วที่สุด

วันที่ 27 กันยายน 2565 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานฯ ร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมทรัพยากรน้ำ ว่า

เพื่อติดตามสถานการณ์เตรียมการรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ ‘โนรู (NORU)’ คาดว่า จะเข้าประเทศไทยในวันที่ 29 ก.ย.65 โดยอ่อนกำลังลงเป็น ‘พายุดีเปรสชัน’ บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค.65 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ติดตามแนวทางการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล โดยกรมชลประทาน และ กฟผ. รวมถึงติดตามผลการดำเนินการ การตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของเขื่อน เพื่อป้องกันเกิดเหตุพนังกั้นลำน้ำแตก การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงกลไกการเจ้งเตือนระดับน้ำ ที่คาดว่าจะสูงขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ให้ประชาชนเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงล่วงหน้าได้ทันสถานการณ์

“ที่ผ่านมา ศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ติดตามแนวทางการเคลื่อนตัวของพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงคาดการณ์ปริมาณฝน ร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำปัจจุบัน เพื่อชี้เป้าพื้นที่ประสบภัย และประเมินแนวโน้มความรุนแรงสถานการณ์น้ำ เพื่อประสานการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การจัดจราจรทางน้ำ รวมถึงพิจารณาลดการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อหน่วงน้ำ การปรับแผนการบริหารจัดการน้ำรองรับในการเร่งป้องกันแก้ไขพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศแจ้งเตือน ฉบับที่ 41/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางศูนย์ส่วนหน้าฯ ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแจ้งหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด” นายชยันต์ เมืองสง กล่าว

สำหรับสถานการณ์แม่น้ำมูลบริเวณล่าสุดขณะนี้ สถานี M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่ง 1.6 ม. (ระดับน้ำ +113.6 ม.รทก.) รวมถึงประเมินคาดการณ์ระดับน้ำทุกวัน ปัจจุบันได้มีการเพิ่มปริมาณน้ำจากค่าฝนที่เกิดจากพายุด้วยแล้ว คาดการณ์ในวันที่ 4 ต.ค.65 บริเวณสถานี M7 สูงกว่าตลิ่ง 2.53 ม. (ระดับน้ำ +114.53 ม.รทก.) ซึ่งจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเตรียมการสำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และการช่วยเหลือกรณีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"