X

กอนช.ผนึกกำลังรับมือพายุ ‘โนรู’ เข้าอีสาน 28 ก.ย.65 เล็งแจง 10 ทุ่งรับน้ำลุ่มเจ้าพระยา

กรุงเทพฯ – กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระดมกำลังวางแผนรับมือพายุโนรู คาดเคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยทางภาคอีสาน 28 ก.ย.นี้ พร้อมเร่งชี้แจงการใช้ 10 ทุ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง รับน้ำ

วันที่ 26 กันยายน 2565 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือ และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ ‘โนรู (NORU)’ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 16 มีศูนย์กลางบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกสู่ทะเลจีนใต้ อาจจะทวีกำลังแรงขึ้นได้อีก คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.65 นี้

มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในวันที่ 28 ก.ย.65

ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช.จะประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.65) ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อระดมแผนการรับมือ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด และสามารถเข้าเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์การบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ได้เตรียมเดินหน้าจัดเวทีสร้างความเข้าใจประชาชนในแต่ละทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามมติของคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ที่เห็นชอบแผนรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำต่าง ๆ ทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และการคาดการณ์ ตลอดจนเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง ระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับน้ำ การให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน

สำหรับทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งมีศักยภาพรองรับน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ก่อนที่จะรับน้ำเข้าทุ่ง จะดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และทางจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า ในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน

รอง ผอ.กอนช. กล่าวด้วยว่า ล่าสุด พื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 10 ทุ่ง เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วคิดเป็น 96.66% คาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง กอนช.มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาสนับสนุนการปล่อยปลา เพื่อใช้เป็นอาหารและสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชน ในช่วงระหว่างการรับน้ำเข้าทุ่ง และจะมีการเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่จะคงเหลือปริมาณน้ำไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งนี้ด้วย ตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"