X

กทม.แจง ไม่มีตัดงบฯ แก้ปัญหาน้ำท่วมเขตจตุจักร ส่งคนไปเที่ยวแทน

กรุงเทพฯ – รองผู้ว่าฯ กทม. แท็กทีมยืนยัน เขตจตุจักรได้งบฯ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม เกือบ 20 ล้านบาท คณะกรรมการวิสามัญไม่ได้ตัดเลยแม้แต่บาทเดียว และไม่ได้ผันงบฯ พาชุมชนไปเที่ยว  

วันที่ 12 กันยายน 2565 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการแปรญัตติงบประมาณ ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 ในส่วนเขตจตุจักร ที่เป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดน้ำท่วม และมีจุดเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม แต่มีการตัดงบประมาณโครงการเกี่ยวกับระบายน้ำ เปลี่ยนเป็นงบประมาณโครงการด้านการสัมมนาและศึกษาดูงาน ว่า

อยากให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณแต่ละปีนั้น หลังจากมีการร่างข้อบัญญัติงบประมาณแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญมีทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและข้าราชการกรุงเทพมหานคร การพิจารณางบประมาณครั้งนี้ ไม่ได้แตกต่างจากที่ผ่านมา หลังจากมีการพิจารณางบแล้วคณะกรรมการวิสามัญจะพิจารณาว่า โครงการไหนหรืองบประมาณไหนที่สามารถใช้ในปีต่อมาได้ ยืนยันว่าไม่ได้มีการตัดงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องการระบายน้ำเลย

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม กล่าวต่อว่า กรณีโครงการหรือรายการไหน ที่เบิกจ่ายเงินล่าช้า หรือทำงานไม่เป็นไปตามสัญญา อาจมีการลดงบประมาณลง แต่ไม่มีการตัดงบประมาณ สำหรับงบประมาณปี 2566 เขตจตุจักรได้รับจัดสรรงบประมาณ 536 ล้านบาท การขอจัดสรรงบประมาณครั้งแรก มีการตัดลดประมาณ 60,000 บาท ที่เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หลังจากนั้นผู้อำนวยการเขตจตุจักร แปรญัตติกลับเข้ามาเกือบ 20 ล้านบาท

ในจำนวนงบดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลอกท่อระบายน้ำเพิ่มเติม 3 ล้านบาท และการทำฝาท่อระบายน้ำเพิ่ม 2 ล้านบาท คณะกรรมการวิสามัญให้ผ่านหมด ซึ่งงบประมาณเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังของเขตจตุจักร รวมทั้งหมดเกือบ 20 ล้านบาท คณะกรรมการวิสามัญไม่ได้ตัดเลย

รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงต่อว่า สำหรับงบประมาณเกี่ยวกับโครงการอบรมศึกษาดูงานนั้น เขตจตุจักรขอจัดสรรงบประมาณ ในส่วนของงบแปรญัตติเข้ามา 5 โครงการ ประกอบด้วย
การอบรมสัมมนาของข้าราชการ การศึกษาดูงานของลูกจ้างสำนักงานเขตจตุจักร และอีก 3 โครงการ เป็นการพาชุมชนไปศึกษาดูงาน เขตต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและทำงานร่วมกับเขต ซึ่งเป็นการขอจัดสรรงบฯ ตามหลักเกณฑ์การแปรญัตติทุกอย่าง

ที่ผ่านมา เคยมีโครงการแบบนี้อยู่แล้ว แต่หายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นสำคัญ เป็นความประสงค์ของชุมชนและเขตพื้นที่ เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดความห่างเหิน การมีโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เขตและชุมชนใกล้ชิดกันมากขึ้น

“การที่สำนักงานเขตจะพาหัวคะแนนไปเที่ยวนั้นทำไม่ได้ และไม่ได้เป็นโครงการที่พาคนไปเที่ยว แต่เป็นโครงการที่พาบุคลากรของหน่วยงานหรือชุมชนไปศึกษาดูงาน” นายจักกพันธุ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า โครงการศึกษาดูงานของระบบราชการ มักถูกมองว่าพาไปเที่ยว แต่จริง ๆ แล้วบางครั้งสามารถไปเรียนรู้งานจากพื้นที่อื่น การออกไปอยู่พื้นที่เดียวกัน ทำให้มีเวลาและสามารถมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ต้องการให้เกิดจากโครงการแต่ละครั้งได้ อีกทั้งต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม

‘อรรถวิชช์’ ยืนยัน เปิดโปงงบฯ กทม. เพื่อช่วย ‘ชัชชาติ’
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ออกมาตั้่งข้อสังเกต เรื่องความผิดปกติของการจัดสรรงบประมาณกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 จำนวน 79,719 ล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 นี้ โดยเน้นหนักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่ถูกตัดงบฯเกี่ยวกับการระบายน้ำทิ้ง และเปลี่ยนเป็นโครงการพาเจ้าหน้าที่ในสังกัดไปเที่ยวสัมมนาแทน ถึง 9,783,300 บาท เช่น การจัดสัมมนาพาคนไปเที่ยวของเขตจตุจักร มีงบฯ สูงถึงเกือบ 10 ล้านบาท หรืองบฯ สำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัย มีค่าพิมพ์คู่มือถึง 69 ล้านบาท และยังมีโครงการย่อยอีกมากมาย ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่นำมาใส่ภายหลัง

นายอรรถวิชช์ ยืนยันว่า สาเหตุที่ออกมาเปิดข้อมูลเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการเห็นการปรับปรุงรูปแบบบริหารงบประมาณของ กทม. และต้องการช่วยเหลือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อนำงบฯ ไปช่วยเหลือชาวกทม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะได้ยื่นเรื่องให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"