X

หมอ เตือน วัยรุ่นลิ้นฟ้า ‘ยาโรฮิบนอล’ อันตรายและมีความผิดตามกฎหมาย

กรุงเทพฯ – สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ชี้ ใช้ยาโรฮิบนอล (Rohypnol) ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การนำไปใช้ในทางที่ผิด อันตรายและมีความผิดตามกฎหมาย

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) หรือชื่อทางเคมี คือ flunitrazepam เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับง่าย สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ

ในทางการแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด ออกฤทธิ์เร็ว หากรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะทำให้นอนหลับภายในเวลา 20-30 นาที ออกฤทธิ์นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง ในปัจจุบันมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ออกฤทธิ์กดประสาทมากขึ้น เพื่อให้ผู้ดื่มไม่มีแรงและจำอะไรไม่ได้ ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรืออาจโดนล่วงละเมิดทางเพศได้

และที่เป็นกระแสในสังคมออนไลน์ที่มาจากต่างประเทศ ว่าการอมยาโรฮิบนอล (Rohypnol) แล้วลิ้นเป็นสีฟ้าจากการติดสีที่เคลือบเม็ดยา เป็นความตั้งใจของผู้เสพที่ต้องการให้ยาค่อย ๆ ดูดซึม เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา

การใช้ยาในทางที่ผิด ไม่ได้จะใช้เพื่อให้นอนหลับ แต่เพื่อให้เกิดความเมา ผู้เสพอาจขาดสติ และทำสิ่งที่เป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว ก่อเหตุรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การอมยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเสริมฤทธิ์ กดการหายใจ และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน น

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการลักลอบซื้อขายยาดังกล่าว ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้ ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ ‘ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุ ออกฤทธิ์’ ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

ด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี (สบยช.) เสริมว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) ห้ามมิให้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือทำให้เกิดอาการติดยาได้ เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดภาวะพึ่งพายา ทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อหยุดยา จะทำให้เกิดอาการถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก สั่น ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"