X

บำเพ็ญกุศล ‘สมบัติ เมทะนี’ วัดพระศรีมหาธาตุฯ 7 คืน ภรรยา เผย หลับไปเฉย ๆ

กรุงเทพฯ – เคลื่อนศพ ‘สมบัติ เมทะนี’ พระเอกตลอดกาล บำเพ็ญกุศล ศาลา 3 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน 7 คืน ก่อนเก็บร่างไว้ 100 วัน หลังเสียชีวิตอย่างสงบ โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย ในวัย 85 ปี

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 หลังจากวงการบันเทิงสูญเสีย ‘สมบัติ เมทะนี’ หรือ อาแอ๊ด ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ.2559 และนักแสดงที่รับบทเป็น ‘พระเอก’ มากที่สุดในโลก จากการเป็นพระเอกถึง 617 เรื่อง เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อเช้าวันนี้ ที่บ้านพักย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ ด้วยโรคชรา (หลับไปเฉย ๆ) สิริรวมอายุ 85 ปี นับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งของวงการบันเทิงไทย

ศิลปิน ดารา นักแสดง คนวงการบันเทิง และแฟนคลับ พากันแสดงความเสียใจและไว้อาลัยตามโซเชียล มีเดีย ต่อเนื่องจำนวนมาก เพราะต่างตกใจกับข่าวที่ได้รับ เนื่องจากการออกสื่อเมื่อไม่นานมานี้ อาแอ๊ด สมบัติ ยังดูแข็งแรงและสุขภาพดีอยู่ เพียงแต่มีภาวะเสื่อมถอยไปตามวัย เช่น หูตึง หลง ๆ ลืม ๆ

เมื่อเวลา 13.00 น. ครอบครัว ญาติ เพื่อนนักแสดง พร้อมด้วย เอกพันธ์และบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู เคลื่อนร่าง สมบัติ เมทะนี ไปยังวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน โดยครอบครัวนิมนต์พระสงฆ์อัญเชิญร่างไร้วิญญาณของสมบัติ มีลูกสาวเป็นผู้ถือกระถางธูป และลูกชายคนโต ถือภาพผู้เป็นพ่อ

สำหรับกำหนดการบำเพ็ญกุศลนั้น เวลา 17.00 น. วันนี้ (18 ส.ค.65) จะมีการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 ส.ค.65 ณ ศาลา 3 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน แล้วจะเก็บร่างไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน

นางกาญจนา เมทะนี ภรรยาของ อาแอ๊ด สมบัติ เมทะนี เปิดเผยเพียงว่า อาแอ๊ด เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าที่บ้านพัก โดยปกติตื่นเวลาประมาณ 06.00 น. แต่เมื่อเช้าไม่ตื่น จึงเข้าไปปลุก และพบว่าเสียชีวิตแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีอาการป่วยอะไรผิดปกติ มีเพียงโรคหูและการฟัง รวมถึงหลง ๆ ลืม ๆ บ้างตามอายุเท่านั้น ไม่ได้มีโรคร้ายแรงอะไรเลย

ประวัติ
สมบัติ เมทะนี เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2480 เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง มีผลงานมากมาย กระทั่งสร้างตำนาน ที่ถูกบันทึกชื่อลงใน Guiness Book World Record ว่า ‘เป็นนักแสดงที่รับบทบาทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลกถึง 617 เรื่อง’

เป็นบุตรของ นายเสนอ กับนางบุญมี เมทะนี เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุได้เพียง 7 วัน ครอบครัวได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่แยกสะพานอ่อน ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามพ่อซึ่งเป็นข้าราชการกรมรถไฟ

เข้าสู่วงการบันเทิง
หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้เข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัทแห่งหนึ่ง แล้วลาออกมาเพื่อหางานอื่นทำ และได้เข้าศึกษาต่อระดับอนุปริญญา ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นทหารเกณฑ์ 6 เดือน พ้นเกณฑ์ทหารเดือนกันยายน 2502 จึงออกหางานทำ ตั้งใจว่าจะรับราชการ

แต่ระหว่างที่เดินหางานอยู่นั้น ก็ได้เข้าสู่วงการบันเทิงโดยบังเอิญ เมื่อถูกจับตาโดยแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา เพราะรูปร่างที่สูงใหญ่ และได้เป็นพระเอกละครโทรทัศน์ทันที ทางช่อง 7 ขาวดำ (ช่อง 5 ในปัจจุบัน) คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช ซึ่งเป็นนางเอกภาพยนตร์ชื่อดังอยู่ก่อนแล้ว โดยมีสุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงรุ่นพี่ เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการแสดง

ชีวิตครอบครัว
สมบัติ เมทะนี สมรสกับ กาญจนา (ตุ๊) เมื่อปี 2502 มีบุตร-ธิดา 5 คน เป็นบุตร 4 คน ธิดา 1 คน

การศึกษา
สมบัติ เมทะนี ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และระดับปริญญาโท-เอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติได้มติคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี 2559 ซึ่งสมบัติได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์-ละครโทรทัศน์)

ผลงานในวงการบันเทิง
นอกจากการแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจปรารถนา เป็นเรื่องแรกเมื่อปี 2503 คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช แล้ว ยังมีละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง รวมถึงแสดงภาพยนตร์ ตั้งแต่ยุค 16 มม. พากย์สด ถึง ยุคภาพยนตร์สโคป 35 มม.เสียงพากย์ในฟิล์มและซาวด์ออนฟิล์ม (บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ) เช่น เกียรติศักดิ์ทหารเสือ, ศึกบางระจัน, จุฬาตรีคูณ, เล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง, กลัวเมีย, ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ

ในช่วงที่ได้รับความนิยมถึงขีดสุด เคยรับงานแสดงพร้อมกันมากถึง 28 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นนักร้อง มีผลงานอัดแผ่นเสียงอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ จุฬาตรีคูณ, เกาะสวาทหาดสวรรค์ และวิวาห์พาฝัน เป็นต้น

งานการเมือง
สมบัติ เมทะนี ลงสมัครเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2549 ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 6 จากที่ต้องการ 18 คนด้วยคะแนน 53,526 เสียง แต่ก่อนที่จะได้เข้าตำแหน่ง ก็เกิดการทำรัฐประหารก่อน ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยเป็นตัวแทนฝ่าย สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน

ต่อมาเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาราช โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี พ.ศ.2550 แบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 สังกัดพรรคประชาราช ลำดับที่ 1แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2554 แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 102 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"