X

สธ.ไม่ยก ‘ฝีดาษลิง’ เป็นโรคติดต่ออันตราย เหตุ อาการไม่รุนแรง

กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยังคงให้โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง แต่ให้ยกระดับการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 กรมควบคุมโรค จัดการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 15/2565 เรื่องแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO ) ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ระบุว่า ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคฝีดาษวานร มานานกว่า 2 เดือน และรายงานผู้ป่วยยืนยันรายแรก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมพิจารณายังคงให้เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ เนื่องจากอาการของโรคฝีดาษวานรไม่รุนแรง รวมถึงการแพร่เชื้อต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่ให้ยกระดับการเฝ้าระวัง เพิ่มการเฝ้าระวังแบบ sentinel (เฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่) ในกลุ่มเสี่ยง เช่น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายให้สอบสวนโรคและดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัย หากติดเชื้อให้แยกกัก 21 วัน

ด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวิชาการฯ ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ และมั่นใจได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกรม เป็นระดับกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อม และมีระบบเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร สอดรับกับประกาศขององค์การอนามัยโลก

นายแพทย์จักรรัฐ ยังเน้นย้ำว่า มาตรการสาธารณสุขที่ดำเนินการ มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้ เนื่องจากโรคฝีดาษวานร จะติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมาก ๆ จึงติดต่อยากกว่าโควิด-19  อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเคร่งครัดมาตรการ Universal Prevention ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงผู้เข้าข่ายมีอาการของโรคฝีดาษวานร เช่น มีผื่น ตุ่ม หนอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค.65) จำนวนผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 16,314 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 71 ประเทศ พื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่ อยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 3,125 ราย สหรัฐอเมริกา 2,581 ราย เยอรมัน 2,268 ราย อังกฤษ 2,115 ราย และฝรั่งเศส 1,562 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด

ส่วนสถานการณในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี ซึ่งผลตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์ West Africa (A.2) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง พบการแพร่ระบาดน้อย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ขณะที่ผลการตรวจ PCR ในผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรชาวไนจีเรีย ทั้ง 19 ราย ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"