X

‘นายกฯ’ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ-เปิดงาน FTI EXPO 2022

เชียงใหม่ – นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำและความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เปิดงาน ‘FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเยี่ยมชมผลการพัฒนาทักษะนักเรียน-เทศบาลแม่เหียะ ได้รับการต้อนรับจากชาวเชียงใหม่อย่างอบอุ่น 

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะปฏิบัติราชการที่ จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นจากการตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ณ ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำและความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขื่อนแม่กวงอุดมธารา

ก่อนตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ รองรับการขยายตัวของชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรีย้ำทำให้เร็วขึ้น และบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคของประชาชนในพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการขนาดใหญ่ที่คุ้มค่า หากโครงการใดติดขัดอุปสรรคปัญหาล่าช้าต้องแก้ไขให้ได้ เพื่อให้โครงการขนาดเล็กเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

จากนั้น นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยัง วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง ตำบลแม่ริมใต้ อำเภอแม่ริม เพื่อกราบนมัสการพระราชวิสุทธิญาณ เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) และน้อมถวายกัปปิยภัณฑ์ แด่พระครูวิบูลธรรมกิจ (บัวเกตุ ปทุมสิโร) เจ้าอาวาสวัดป่าปางกึ๊ดกิตติธรรม ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง ที่พักฟื้นอาการอาพาธอยู่ในวัดป่าดาราภิรมย์ แล้วนมัสการพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว และเยี่ยมชมปูชนียวัตถุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทางวัดจัดแสดงไว้ภายในหอแก้วชั้นบน เพื่อความเป็นสิริมงคล

แล้วเดินทางต่อไปยัง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิด FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกัน สร้างการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการระดมองค์กรชั้นนำของประเทศ ภาครัฐและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ครอบคุลม 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ รวมกว่า 400 ราย ร่วมจัดแสดงสินค้า การประชุมสัมมนา การเจรจาธุรกิจ พร้อมนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจและภาคประชาชน ให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง ตั้งเป้ามียอดใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในงานไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยเพื่อความยั่งยืน’ ตอนหนึ่ง โดยเปรียบประเทศไทย เสมือนรถยนต์ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าบนเวทีโลก โดยกำหนดแนวทางในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สามารถพลิกโฉมตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลง ช่วงแรก คือ รีสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อรีสตาร์ทประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด (Restart Thailand)

ช่วงการเร่งเครื่องยนต์ Speed up จะต้องรีบดำเนินการภายใต้แนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวนำในการยกระดับประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งด้านเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว และยานยนต์ ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยา และเศรษฐกิจฐานดิจิทัล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการยกระดับศักยภาพของ SMEs และ Startup เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดนั้น รัฐบาลได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและเร่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวโดยเร็ว ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง และเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนประมาณ 7-10 ล้านคน

นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมผลักดัน Soft Power ของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขาสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังยุคโควิด-19

เยี่ยมชมผลการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน ให้แก่เยาวชน
ช่วงบ่าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปยังโรงเรียนวัดเวฬุวัน อำเภอสารภี เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Coding) ให้แก่เยาวชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รองรับการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมผลงานการยกระดับทักษะของครูผู้ผ่านการเรียนการสอนจริง ผลงานด้านโค้ดดิ้งของนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ และกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน (Digital Bus) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน เพื่อนำ Digital Bus ไปสอน และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนและผู้สนใจในพื้นที่ต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การทำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม สามารถพัฒนาต่อยอดขยายและนำไปปรับใช้ในด้านต่าง ๆ ได้อีกมาก ขอให้เด็กและเยาวชนทุกคน มีความรักกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้ และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินโครงการดังกล่าวจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

เยี่ยมชมโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญาหายาเสพติดแบบครบวงจร
ช่วงเย็น นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญาหายาเสพติดแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ ของอำเภอสารภี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสถานีตำรวจภูธรสารภี และชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง บ้านเชียงขาง หมู่ที่ 7 ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี

ชื่นชมเทศบาลแม่เหียะ ยกเป็นตัวอย่าง ‘ท้องถิ่นเข้มแข็ง’
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ด้านดิจิทัลของเทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดแนวคิดโครงการการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระบบช่วยในการทำงาน และส่งเสริมให้มีระบบบริหารงานในการอำนวยความสะดวก เป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS), ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ E-OFFICE, ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์, ระบบหนังสือรับรองการแจ้งฯ ออนไลน์ และระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม ยกให้เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของการบริหารส่วนท้องถิ่น ถือเป็นความสำเร็จในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทำให้ง่ายต่อการติดต่อราชการ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลในทุก ๆ ด้าน ขอให้พัฒนาต่อไปให้ครอบคลุม พร้อมกับย้ำให้สร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้ท้องถิ่นใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยดูแลประชาชน โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน เพราะเป็นส่วนราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"