X

ปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัคร 31 คน มากสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วน ส.ก.382 คน

กรุงเทพฯ – กทม. สรุปผลการรับสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครทั้งหมด 31 คน มากที่สุดตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มา อายุมากสุด 75 ปี น้อยสุด 43 ปี  ขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขต มีทั้งสิ้น 382 คน

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นำแถลงผลการรับสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่รับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 – 4 เมษายน 2565 เวลา 16.30 น. มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 31 คน เป็นชาย 25 คน หญิง 6 คน ผู้สมัครอายุมากที่สุด 75 ปี อายุน้อยที่สุด 43 ปี (สังกัดพรรคการเมือง 5 คน อิสระ 26 คน) โดยเรียงตามหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้

หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)
หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี (พรรคไทยสร้างไทย)
หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล (ผู้สมัครอิสระ)
หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม (พรรคประชากรไทย)
หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม (พรรคกรีน)
หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา (ผู้สมัครอิสระ)

 

ส่วนการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีผู้สมัครรับ ทั้ง 50 เขต รวม 382 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก.มากที่สุด คือ เขตดุสิตและสวนหลวง เขตละ 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก.น้อยที่สุด 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ หนองแขม บางพลัด ดินแดง บางซื่อ และคันนายาว มีผู้สมัครเขตละ 6 คน

ผู้สมัคร ส.ก.อายุน้อยที่สุด เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และอายุมากที่สุด เขตราชเทวี อายุ 82 ปี

ด้านนายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หลังจากปิดรับการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร คือ วันที่ 11 เมษายน 2565 ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และข้อ 97 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

หลังจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากผู้สมัครไม่มีรายชื่อสามารถยื่นคัดค้านได้ ภายใน 3 วัน คือ วันที่ 14 เมษายน 2565

นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ย้ำให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และทีมงาน จดบัญชีค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการหาเสียง เพื่อยื่นต่อ กกต.ภายใน 90 วัน หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละรายใช้งบประมาณหาเสียงได้ไม่เกิน 49 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กกต.กทม. เชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทั้งหมด รับฟังแนวทางการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.65) ด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"