X

‘พลิกฟื้นผืนป่า’ คืนสมดุลธรรมชาติ เพื่อชุมชนและต้นไม้โตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

‘ป่า’ ไม่ใช่เพียงป่า แต่เป็นทรัพยากรสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกให้กับพืชและสัตว์ เป็นทั้งแหล่งพักพิง แหล่งอาหาร เป็นปอดให้กับโลก และอีกนานาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ป่าอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน โดยได้มุ่งฟื้นฟูปรับปรุงสภาพแวดล้อมจากพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแร่แล้ว ให้กลับสู่สภาพใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์หรือคืนสู่ธรรมชาติ และการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ทั้งยังให้ประชาชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อีกด้วย

เหมืองลิกไนต์แม่เมาะ เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ในการทำเหมืองประมาณ 17,000 ไร่ และพื้นที่ทิ้งดินประมาณ 25,200 ไร่ โดยกำหนดการใช้ประโยชน์สุดท้ายของที่ดินหลังปิดเหมืองแล้ว เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พื้นที่ปลูกป่าทดแทน 39,200 ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 1,300 ไร่ และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ 1,700 ไร่ ซึ่งในอนาคตการใช้ประโยชน์สุดท้ายของพื้นที่อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัยให้เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อให้พื้นที่ฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะเกิดประโยชน์สูงสุดที่สุด ก่อนส่งมอบพื้นที่คืนแก่ภาครัฐและชุมชน

สำหรับการฟื้นฟูฯ ด้วยการปลูกป่าทดแทนซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 โดยประยุกต์ใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชาและหลักการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยแบ่งพรรณไม้ที่ปลูกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.พรรณไม้ยืนต้น เช่น สัก มะค่าโมง ประดู่ กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส  หางนกยูงฝรั่ง ไผ่ จามจุรี สะเดา ขี้เหล็กบ้าน เพกา เสี้ยว มะขามป้อม ตะขบฝรั่ง  และ 2.พรรณพืชคลุมดิน จะใช้พรรณพืชท้องถิ่นที่สามารถขึ้นปกคลุมพื้นที่รวดเร็วและบางชนิดสามารถเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงได้ เช่น หญ้าปากควาย หญ้าตีนติด หญ้าดอกสีชมพู หงอนไก่ ถั่วฮามาต้า ถั่วแปบ บานไม่รู้โรยป่า ปอเทือง กระดุมทองเลื้อย เป็นต้น

ปัจจุบัน กฟผ. ได้ปลูกป่าทดแทนคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,300 ไร่ มีพรรณไม้ชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 ชนิด รวมแล้วกว่า 2,058,000 ต้น  นอกจากนี้ กฟผ. ได้ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ (ทุ่งบัวตอง) พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) สวนพฤกษชาติ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับบุคคลทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมได้

การปลูกป่าฟื้นฟูฯ ยังทำให้เกิดการจ้างงานจากการจ้างปลูก บำรุงรักษา และการตกแต่งต้นไม้ งานจ้างหว่านพืชคลุมดิน งานจ้างผลิตกล้าไม้ งานจัดซื้อปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก งานบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใน กฟผ.แม่เมาะ อีกทั้งได้เปิดให้ชุมชนโดยรอบการเข้ามาหาของป่าในพื้นที่ป่าฟื้นฟูฯ ที่จัดไว้อย่างเหมาะสมตามฤดูกาล เช่น การเก็บยอดอ่อนต้นขี้เหล็ก ต้นสะเดา การเก็บรวงผึ้ง ไข่มดแดง ขุดหาตัวอ่อนจักจั่น เก็บดักแด้ผีเสื้อ และการจับปลา เป็นต้น ให้ชุมชนโดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี

และที่สำคัญ ป่าฟื้นฟูฯ ยังช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้อยู่ในส่วนประกอบต่างๆ ของต้นไม้ ทั้งลำต้น กิ่ง ใบ และราก ซึ่งสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 160,000 ตัน (คิดจากพื้นที่ป่าประมาณ 12,000 ไร่ ในปี 2564) และยังช่วยปรับปรุงระบบนิเวศให้มีสภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของดินชั้นบนมีความพรุนมากขึ้น ค่าปฏิกิริยาของดินมีค่าแนวโน้มเป็นกลาง ส่งผลต่อธาตุอาหารที่ต้นไม้สามารถนำไปใช้  เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารจากการย่อยสลายของซากอินทรีย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อให้ชุมชนโดยรอบมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน พร้อมปลูกจิตสำนึกรักหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น ช่วยแก้ปัญหาป่าไม้อาจถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเข้าเก็บหาของป่าโดยไม่มีขีดจำกัด จนปัจจุบัน มีป่าชุมชนที่ได้ดำเนินการสนับสนุน ทั้งหมด 20 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 23,300 ไร่

ไม่เพียงแต่การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพเหมือง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) โดยมีแผนในการปลูกป่าเฉลี่ยปีละ 100,000 ไร่ ประกอบไปด้วยป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนขนาดใหญ่ให้กับประเทศได้ประมาณ 23.6 ล้านตันตลอดทั้งโครงการ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและอากาศให้กับประเทศในอนาคต

#ปลูกป่า #ปลูกป่าล้านไร่ #กฟผ. #แม่เมาะ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"