X

แจ้งเกิด ‘ออร์แกนิคพะเยา’ ยกระดับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์

พะเยา – บพท. ม.พะเยา และชุมชน ร่วมปั้น บริษัท ออร์แกนิคพะเยา สู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเพิ่มช่องทางการขาย และแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นสร้างกลไกผู้นำท้องถิ่นสร้างเกษตรอินทรีย์พะเยาให้เข้มแข็ง

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา สู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม ระบุว่า มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วิจัยเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดพะเยา มาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และได้ร่วมมือกับชุมชนจัดตั้ง บริษัท ออร์แกนิคพะเยา ขึ้นมา

ปีนี้ เป้าหมายการทำงานของคณะวิจัยอย่างหนึ่ง คือ การเดินหน้าพัฒนา บริษัท ออร์แกนิค พะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (OPSE) เพื่อพัฒนาระบบการจัดการด้านการตลาด ผลผลิตเกษตรอินทรีย์และสินค้าแปรรูป ให้มีการขับเคลื่อนการตลาดที่เป็นธรรมผ่าน บริษัท OPSE พร้อมกับยกระดับห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา

บริษัท OPSE จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทขึ้น ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อรวบรวมสินค้าเกษตรในจังหวัดพะเยา ไปส่งขายให้แก่ผู้รับซื้อในจังหวัดอื่น ๆ เช่น เลมอนฟาร์ม ที่รับซื้อลิ้นจี่จากพะเยา และบริษัท สุขทุกคำ ที่รับซื้อสินค้าเกษตรออร์แกนิกจาก พะเยา ไปขายต่อให้ลูกค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ผ่านมา บริษัท OPSE มีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน

ผู้อำนวยการโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา สู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม ยังเปิดเผยถึงแผนการพัฒนาทางการตลาดต่อไปว่า ได้เริ่มทำการตลาดเพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยการตลาดแบบออนไลน์ได้เริ่มจัดตั้งเพจ และกลุ่มไลน์เพื่อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผักออร์แกนิคในจังหวัดพะเยา ส่วนการทำการตลาดออฟไลน์ มีการเจรจาพูดคุยกับห้างโมเดิร์นเทรดในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อส่งสินค้าไปจำหน่าย ควบคู่กับการนำสินค้าไปออกบูทแสดงสินค้าของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัด จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ผักเคล ถั่วพู วอเตอร์เครส มะเขือเทศราชินี ฟักทองไทย

นอกจากการเพิ่มช่องทางการตลาดแล้ว คณะนักวิจัยยังให้ความสำคัญกับการวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหาผลผลิตเหลือทิ้ง จำนวน 4 ชุมชมนวัตกรรม ใน 4 ตำบล ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์การผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในการบริหารจัดการลิ้นจี่ตกเกรด, ชุมชนนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากเห็ด โดยฟาร์มเห็ดธนกฤต์ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา, ชุมชนนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผงชงดื่ม โดยกลุ่มผลิตผักอินทรีย์ ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืช ผัก สมุนไพรอบแห้ง โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด อโกรโปรเกรส

ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ กล่าวด้วยว่า OPSE มีสมาชิกเป็นเครือข่ายที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาแล้ว ประมาณ 200 ราย ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยา มาช่วยอบรมสร้างความรู้ทางการตลาดและการจัดทำบัญชีธุรกิจ ที่เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำธุรกิจในอนาคตโดยตามแผน ซึ่ง OPSE จะมีความยั่งยืนและสามารถเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องธุรกิจให้กับสมาชิกได้เองต่อไปภายใน 3 ปี

โดยจะมีการพัฒนาให้ชุมชนเป็นเจ้าของ บริษัท OPSE ที่จะดำเนินการในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) มีการปันผลให้แก่สมาชิกที่ถือหุ้นในสัดส่วน 30:70 คือ นำกำไรมาจัดสรรให้สมาชิกที่ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ส่วนอีก 70% ใช้เป็นเงินหมุนเวียนและพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้า เช่น การทำแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ในรูปแบบต่างให้มากขึ้น

ด้านนายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาท้องถิ่นด้วยความรู้จากสถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน บพท.ตั้งเป้าหมายให้งานวิจัย นอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับชุมชนที่เข้าร่วมแล้ว เขาควรจะได้รับความรู้พอที่จะเดินต่อไปได้ ตลอดจนมีการสร้างกลไกภาคีในท้องถิ่นจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเข้ามาร่วมมือ จนกลายเป็นตัวอย่างกระบวนการบริหารท้องถิ่นที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"