X

อัปเดต ‘โอมิครอน’ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วไทยแล้ว

นนทบุรี – อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย เชื้อโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ระบาดครอบคลุมทุกจังหวัดของไทยแล้วกว่า 80% ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 97% ชี้ พบติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอนเป็นเรื่องปกติ คาดสิ้นเดือนนี้จะแทนเดลตา วอนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้ทุกสูตร 

วันที่ 21 มกราคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังพบว่า วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่เจอสายพันธุ์โอมิครอน โดยพบแล้วทุกพื้นที่ สะสม 17,021 คน จังหวัดที่พบสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต และสมุทรปราการ ส่วนเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 200 กว่าคน และเป็นการติดเชื้อในพื้นที่ 100 กว่าคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลช่วงวันที่ 11-17 ม.ค. ภาพรวมประมาณ 87% แต่เฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 97% จาก 1,437 ตัวอย่างติดเชื้อโอมิครอน ขณะที่ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน 80% เดลตา 20 % เป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ

ทั้งนี้ การตรวจสายพันธุ์ย่อยในไทย ในกลุ่มคนทั่วไป วันนี้ สัดส่วนที่เจอโอมิครอน 85% เดลตา 15 % แต่มีเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรงหรือเสียชีวิต พบประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตาแน่นอน แต่อย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อตอนนี้เป็นโอมิครอน แล้วอาการไม่รุนแรง เพราะแท้จริงอาจจะเป็นเดลตาก็ได้ และกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำเกิดจากโอมิครอน

เนื่องจากกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร บุคลากรการแพทย์ 25% เป็นเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 คนที่มีการติดเชื้อซ้ำ พบว่าติดเป็นโอมิครอน 100% จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดิมเป็นเดลตาจะมีภูมิสูง จะไม่ติดเดลตา แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำป็นโอมิครอนได้ สะท้อนว่าภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมป้องกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้

ถ้าแบ่งตามเขตสุขภาพ หลายเขตขึ้นไป 70-80% ที่เพิ่มมาก คือ เขตสุขภาพ 4 6 และ 7 ขึ้นไปเกือบ 90% และเขตฯ 13 กทม. 86% ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน ที่เหลือลดลง แต่ที่น่าสังเกต คือ เขตฯ 12 หรือชายแดนภาคใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า ซึ่งพื้นที่นี้มีลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่น ๆ แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยโอมิครอนอยู่ดี

นายแพทย์ศุภกิจ ย้ำว่า จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปว่า โอมิครอนมีการระบาดเร็ว ผู้ที่มาจากต่างประเทศ 97% เป็นโอมิครอน  ดังนั้น จากนี้อาจจะไม่ต้องตรวจสายพันธุ์แล้ว แต่ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นโอมิครอน ส่วนในประเทศโอมิครอน 80% เดลตา 20% ส่วนผู้เสียชีวิต ยังเกิดจากเดลตาเกินค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม การตรวจหาพันธุกรรมยังต้องทำเพื่อการวิเคราะห์ว่า โอมิครอนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ อาจจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม รวมถึงเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย และแม้แต่เดลตาเดิม เราก็พบเดลต้าที่มีปัญหามากขึ้นเช่นกัน จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป

การฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อแล้ว แต่ยังเป็นโอมิครอนซ้ำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโอมิครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็มอาจจะไม่เพียงพอกันการติดเชื้อ และคาดว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้ ภายในประเทศจะเป็นโอมิครอนเท่ากับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเดลตาจะหายไปทั้งหมด พร้อมยืนยันสนับสนุนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไม่ว่าสูตรไหน เพื่อลดการระบาดของโอมิครอน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"