X

ไทยพบติด ‘โอมิครอน’ แล้ว 2,062 คน เผย สร้างภูมิคุ้มกันสูงสู้ ‘เดลตา’ ได้

นนทบุรี – อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผลศึกษา ‘โอมิครอน’ ทำภูมิคุ้มกันสูงสู้เดลตาได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด ขณะยอดติดเชื้อไทยอยู่ที่ 2,062 คน 

วันที่ 4 มกราคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564-3 ม.ค.2565 พบแล้วสะสม 2,062 คน โดยเมื่อวาน (3 ม.ค.) พบ 282 คน ครบทุกเขตสุขภาพ โดยจำนวนที่พบสะสม 2,062 คน อาทิ กรุงเทพมหานคร 585 คน โดยติดในประเทศ 7 คน ส่วนกาฬสินธุ์ 233 คน ในจำนวนนี้ติดเชื้อในประเทศ 231 คน, ร้อยเอ็ด 180 คน ติดในประเทศทั้งหมด, ภูเก็ต 175 คน ติดในประเทศ 17 คน, ชลบุรี 162 คน เป็นการติดในประเทศ 70 คน และสมุทรปราการ 106 คน ติดในประเทศ 28 คน โดยทั้งหมดติดเชื้อไป 54 จังหวัดแล้ว ผู้ติดเชื้อสะสม 2,062 คนนี้ ส่วนใหญ่หายดีแล้ว และที่รักษาตัวก็อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกมาภายนอก

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวอีกว่า โอมิครอน จะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต เพราะคนเสียชีวิตวันนี้อาจติดเชื้อมาจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว และขอให้เข้าใจตรงกันว่า การติดเชื้อโควิดวันนี้ 70-80% ยังเป็นเดลตา ซึ่งยังมีผลทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 คนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม จะไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ทุกกรณี แต่จะใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์เพื่อประเมินสถานการณ์ และอาจไม่ต้องอัปเดตทุกวัน รวมทั้งจากข้อมูลการศึกษาผู้ติดเชื้อบางส่วนจากโอมิครอน อาจทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถสู้เดลตาได้ แต่จะขึ้นสูงในกลุ่มฉีดวัคซีน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การศึกษาในแอฟริกาใต้ พบว่า ถ้าคนติดโอมิครอนแล้ว เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น โดยเจาะเลือด 14 วันหลังติดเชื้อโอมิครอน เปรียบเทียบทั้งคนฉีดวัคซีนและไม่ฉีด เพื่อดูภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมาว่า จัดการกับโอมิครอนและเดลตาได้แค่ไหน พบว่าคนที่ติดโอมิครอนภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยหากติดเชื้อโอมิครอนซ้ำ ภูมิจะจัดการได้

สรุป คือ คนที่ฉีดวัคซีนหรือแม้กระทั่งไม่ฉีด เมื่อติดเชื้อโอมิครอนหลังจากนั้น 14 วัน จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันเดลตาได้ด้วย กรมวิทย์ฯ จะรวบรวมคนติดเชื้อในไทย และเมื่อครบ 2 สัปดาห์จะนำเลือดมาตรวจว่า จัดการกับเชื้อเดลตาได้มากน้อยแค่ไหน หากจริงตามนี้ก็หมายความว่า การติดเชื้อโอมิครอนอาจไม่ได้มีผลร้ายอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ไปรับเชื้อ ต้องแปลความดี ๆ อันนี้ คือ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

สำหรับเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นลูกหลาน อย่าง B.1.640.2 เจอในฝรั่งเศส ต้นทางมาจากคองโก พบประมาณ 400 คน แต่ขอย้ำว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะพบได้หลายตัว ทั้งเบตา แกมมา หรือแม้กระทั่งโอมิครอน โดยในระบบการเฝ้าระวังของโลกมีการติดตาม และทำให้ทราบว่ามีการกลายพันธุ์ออกมา จึงต้องจับตากันต่อไป สำหรับไทยก็เฝ้าระวังอยู่ว่า จะมีการพบสายพันธุ์ลักษณะนี้หรือไม่อย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"