X

ราชกิจจาฯ ปรับพื้นที่โควิด พร้อมยืดเคอร์ฟิวพื้นที่สีแดงเข้ม ถึง 30 พ.ย.64

กรุงเทพฯ – ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 38) ประกาศปรับพื้นที่สถานการณ์โควิด-19 โดยพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 6 จังหวัด พร้อมขยายเคอร์ฟิวถึง 30 พ.ย.64 และห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 38) ความว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์และแนวทางไว้ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อมุ่งฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ การกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงยังคงเน้นย้ำการปฏิบัติตามแผนงานดังกล่าว เพื่อเป็นการยืนยันถึงความพร้อมและบูรณาการประสานความร่วมมือของพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม รวมถึงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดและศักยภาพความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินแล้วเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการที่เข้มงวดในบางเขตพื้นที่สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรครุนแรงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยมุ่งหมายให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐฏิจและสังคมดำเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัด จำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

สำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว จะเป็นไปตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ข้อ 2 การห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00 นาฬิกา ถึง 03.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น โดยใช้บังคับต่อเนื่องไป สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบห้าวัน (จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564) และให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป

ข้อ 3 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2564 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

สำหรับบัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการแนบท้ายคำสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 21/2564 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 มีดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 6 จังหวัด
1. จังหวัดตาก
2. จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. จังหวัดนราธิวาส
4. จังหวัดปัตตานี
5. จังหวัดยะลา
6. จังหวัดสงขลา

พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น 39 จังหวัด
1. จังหวัดกาญจนบุรี
2. จังหวัดขอนแก่น
3. จังหวัดจันทบุรี
4. จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. จังหวัดชลบุรี (ยกเว้นอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบเฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่)
6. จังหวัดชุมพร
7. จังหวัดเชียงราย
8. จังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง)
9. จังหวัดตรัง
10. จังหวัดตราด (ยกเว้นอำเภอเกาะช้าง)
11. จังหวัดนครนายก
12. จังหวัดนครปฐม
13. จังหวัดนครราชสีมา
14. จังหวัดนครสวรรค์
15. จังหวัดนนทบุรี
16. จังหวัดปทุมธานี
17. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ยกเว้นตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก)
18. จังหวัดปราจีนบุรี
19. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
20. จังหวัดพัทลุง
21. จังหวัดพิจิตร
22. จังหวัดพิษณุโลก
23. จังหวัดเพชรบุรี (ยกเว้นเทศบาลเมืองชะอำ)
24. จังหวัดเพชรบูรณ์
25. จังหวัดระนอง (ยกเว้นเกาะพยาม)
26. จังหวัดระยอง (ยกเว้นเกาะเสม็ด)
27. จังหวัดราชบุรี
28. จังหวัดลพบุรี
29. จังหวัดสตูล
30. จังหวัดสมุทรปราการ (ยกเว้นบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
31. จังหวัดสมุทรสงคราม
32. จังหวัดสมุทรสาคร
33. จังหวัดสระแก้ว
34. จังหวัดสระบุรี
35. จังหวัดสุพรรณบุรี
36. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ยกเว้นเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)
37. จังหวัดอ่างทอง
38. จังหวัดอุดรธานี (ยกเว้นอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
39. จังหวัดอุบลราชธานี

พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น 23 จังหวัด
1. จังหวัดกาฬสินธุ์
2. จังหวัดกำแพงเพชร
3. จังหวัดชัยนาท
4. จังหวัดชัยภูมิ
5. จังหวัดบุรีรัมย์ (ยกเว้นอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
6. จังหวัดแพร่
7. จังหวัดพะเยา
8. จังหวัดมหาสารคาม
9. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
10. จังหวัดยโสธร
11. จังหวัดร้อยเอ็ด
12. จังหวัดลำปาง
13. จังหวัดลำพูน
14. จังหวัดเลย (ยกเว้นอำเภอเชียงคาน)
15. จังหวัดศรีสะเกษ
16. จังหวัดสิงห์บุรี
17. จังหวัดสุโขทัย
18. จังหวัดสุรินทร์
19. จังหวัดหนองคาย (ยกเว้นอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ)
20. จังหวัดหนองบัวลำภู
21. จังหวัดอุทัยธานี
22. จังหวัดอุตรดิตถ์
23. จังหวัดอำนาจเจริญ

พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด
1. จังหวัดนครพนม
2. จังหวัดน่าน
3. จังหวัดบึงกาฬ
4. จังหวัดมุกดาหาร
5. จังหวัดสกลนคร

พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดกระบี่
3. จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่)
4. จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง)
5. จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง)
6. จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
7. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
8. จังหวัดพังงา
9. จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ)
10. จังหวัดภูเก็ต
11. จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม)
12. จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด)
13. จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน)
14. จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
15. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)
16. จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ)
17. จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)

พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 4 จังหวัด
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดกระบี่
3. จังหวัดพังงา
4. จังหวัดภูเก็ต

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"