X

ศบค.ห่วงกิจกรรมช่วงเปิดประเทศ เผย โควิดนครศรีฯ ระบาดหนัก สั่งปิดชุมชนเสี่ยง

กรุงเทพฯ – ศบค. ห่วงกิจการที่มีความเสี่ยงช่วงเปิดประเทศ ขอสถานประกอบการทำตามมาตรการเคร่งครัด พร้อมจับตา 3 จังหวัดโควิดระบาดหนัก โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ต้องสั่งปิดชุมชนเสี่ยง เพิ่มเคอร์ฟิว 1 ชั่วโมง

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค. วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ใน จ.นครศรีธรรมราช พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นในเดือน ก.ย. ที่มีวันละ 300-400 คน และเดือน ต.ค. มากกว่าวันละ 600 คน

โดยพบ 5 คลัสเตอร์ที่มีการระบาดมากที่สุด ได้แก่
1.คลัสเตอร์ในครอบครัวและชุมชน 79.76%
2.คลัสเตอร์ในตลาด 6.89%
2.คลัสเตอร์ในเรือนจำ 5.11%
4.คลัสเตอร์ในโรงงาน 1.68%
5.คลัสเตอร์ในกิจกรรมทางศาสนา 1.43%

ทั้งนี้ จ.นครศรีธรรมราช อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่มีการจัดการด้วยมาตรการป้องกันแบบบูรณาการ โดย ศบค. ห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ช่วงเวลา 23.00-03.00 น. จนถึงวันที่ 15 พ.ย.2564 แต่ จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มเวลาเคอร์ฟิว เป็น 22.00-03.00 น. และมีการปิดชุมชนที่ระบาดเพิ่มขึ้น เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด

ส่วน จ.เชียงใหม่ ยังพบการระบาดในตลาด 32 คน แคมป์ก่อสร้าง 8 คน สถานศึกษา 7 คน และศูนย์เด็กเล็ก 4 คน เช่นเดียวกับ จ.ชลบุรี ยังพบการระบาดในค่ายทหารและแคมป์ก่อสร้าง

พญ.สุมนี แถลงอีกว่า สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรหลังเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. พบผู้เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 9,210 ราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต 4,005 ราย และท่าอากาศยานสมุย 128 ราย ผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย ศปก.ศบค.กำชับการตรวจเอกสารของผู้เดินทาง รวมถึงกำชับการตรวจ RT-PCR ที่โรงแรม ทำควบคู่กับโรงพยาบาล ให้ดำเนินการรู้ผลภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้เดินทางเข้ามาสามารถเข้าพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ หรือเดินทางท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ 5 ประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1,593 ราย, เยอรมนี 1,592 ราย, สหราชอาณาจักร 1,006 ราย, ญี่ปุ่น 935 ราย และสวิตเซอร์แลนด์ 624 ราย

ที่ประชุม ศปก.ศบค. ยังเป็นห่วงเรื่องการดำเนินกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ในช่วงที่มีการผ่อนคลายประเทศ ซึ่งได้มีการประชุมกทม.และภาคเอกชน สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีก โดยขอให้เร่งรัดให้ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหาร ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือ ให้ดำเนินการภายใต้มาตรการสาธารณสุข หรือมาตราฐาน SHA+ (ชาพลัส) แต่ถ้ายังไม่ได้ SHA+ ก็จะมีการลงไปตรวจเชิงรุก และฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮล์ในร้านอาหารได้ ขอให้เจ้าของกิจการ สถานประกอบการทั้งหมด ดำเนินการภายใต้มาตรการของสาธาณสุขอย่างเคร่งครัดตามเวลาที่กำหนด ซึ่ง ศปก.ศบค.จะประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ และขอความร่วมมือจากประชาชน ภาคเอกชน และทุกฝ่าย ในการขับเคลื่อนภายใต้มาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จะทำให้สามารถผ่อนคลายในระยะต่อ ๆ ไปได้สำเร็จ และปลอดภัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"