X

กฟผ. พร้อมจ่ายไฟ ‘โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด’ เขื่อนสิรินธร ต.ค. 64

หนุนเทรนด์พลังงานสะอาดโลกเต็มที่ กฟผ. ทุ่มกำลัง โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ดีเดย์ทดสอบขนานเครื่องเข้าระบบครั้งแรก 30 ก.ค. คาด จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ต.ค.64 พร้อมเร่งทำจุดเช็คอินใหม่รับนักท่องเที่ยวต้นปี 65

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุดแล้ว


พร้อมติดตั้งทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์แล้วเสร็จ โดยจะเตรียมทดสอบขนานเครื่องกําเนิดไฟฟ้าเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าครั้งแรก (First Synchronization) ในวันพรุ่งนี้ คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2564

ขณะเดียวกัน กฟผ. ยังเร่งมือสร้าง ‘เส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway’ เพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกในมุมสูงอย่างใกล้ชิด อยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่ รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงของการก่อสร้าง กฟผ. ได้จ้างผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว เรือ และเจ็ตสกีจากชุมชนรอบพื้นที่มาใช้ในงานก่อสร้าง รวมถึงเช่าแพเพื่อเป็นที่พักให้กับคนงาน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในช่วงที่นักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าการจ้างงานในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 30 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดได้เป็นอย่างดี


นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน กล่าวด้วยว่า โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ไฮบริดกับพลังน้ำจากเขื่อน ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดร่วมกันระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีปริมาณความเข้มของแสงเพียงพอ และนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอหรือในช่วงกลางคืน ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องยาวนาน

โรงไฟฟ้าฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดกระจกทั้งสองด้าน (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ซึ่งมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ให้กับโลก

กฟผ. ยังเตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. อีกหลายแห่งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ รวมทั้งอยู่ในช่วงพิจารณาศักยภาพเพิ่มเติมอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ กฟผ. ในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงในอนาคต

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"