X

เตียงผู้ป่วยโควิดไม่พอ ไม่ใช่ ‘ระบบสาธารณสุขล่มสลาย’ ขอเข้ม 5 มาตรการ

กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่พอ ไม่ใช่ระบบสาธารณสุขล่มสลาย หลาย รพ. หันมาใช้ Home Isolation และ Community Isolation ขอเข้มงวด 5 มาตรการ เห็นต่างได้ แต่ต้องพูดความจริง โปร่งใส จะไปรอด

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการแถลงข่าวของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยืนยันว่าเตียงในโรงพยาบาลทั่วประเทศยังพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ แต่ในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่สถานการณ์ค่อนข้างหนัก ได้ขยายเตียงไปแล้วกว่า 200-300 % ในโรงเรียนแพทย์ อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลวชิระพยาบาล พร้อมขยายเตียงไอซียูเพิ่ม และขอแพทย์จบใหม่อย่าเพิ่งเดินทางไปใช้ทุน รวมทั้งระดมแพทย์พยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีผู้ป่วยโทรศัพท์มารอเตียงอยู่หลักพันคน จึงคิดใช้มาตรการการดูแลที่บ้านในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่เรียกว่า Home Isolation

โดยโรงพยาบาลราชวิถีทดลองมา 2 เดือน ในผู้ป่วย 20-30 คน พบว่าได้ผลดี จะมีการติดตาม ทั้งวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด คอยติดตามอาการ หากเปลี่ยนแปลงต้องรีบนำส่งสถานพยาบาล แต่วิธีนี้ใช้ได้สำหรับคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ทุกบ้าน เพราะต้องเป็นบ้านที่อยู่คนเดียว มีห้องเฉพาะ และมีข้อบกพร่อง คือ อาจมีการแพร่เชื้อได้ 10% จึงทำ Community Isolation มารองรับ โดยมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย รวมถึงชุมชน พร้อมทั้งกำลังขยายเรื่องผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากที่ผ่านมา ตรวจพบว่าประสบอุบัติเหตุปกติ แต่เมื่อตรวจหาเชื้อกลับพบติดโควิด-19

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง Hospitel ของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จึงขอความร่วมมือให้ขยายเกณฑ์การรับผู้ป่วยออกไป เพราะบางโรงพยาบาลไม่รับหญิงตั้งครรภ์ เด็ก และผู้มีน้ำหนักเกิน หากเป็นไปได้ให้นึกถึงคนไข้มากกว่าผลประกอบการ เพราะถ้าช่วยกันจะเดินไปได้

ส่วนตอนนี้ระบบสาธารณสุขล่มสลายแล้วหรือไม่ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า กรณีเตียงไม่พอ ยังไม่ถึงกับระบบสาธารณสุขล่มสลาย เพราะยังมีระบบรักษาพยาบาลอื่น ๆ และที่ผ่านมาก็ไม่ได้บอกว่า หากที่ใดตรวจเจอโควิดแล้วต้องรับผู้ป่วย เพียงแต่ให้ช่วยประสาน เพื่อนำผู้ป่วยเข้าระบบ ขณะที่หลายจังหวัดมีมาตรการลำเลียงผู้ป่วยกลับบ้าน หากดำเนินการพร้อมกันจะทำให้เดินไปได้เช่นกัน แต่ขอเน้นย้ำเรื่อง 5 มาตรการสำคัญ ที่แพทย์และพยาบาลต้องการ คือ นโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจน มาตรการเข้มข้น ประชาชนต้องร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องเข้มแข็ง และเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุม หลังจากนั้น คือ การฉีดวัคซีนเพื่อลดผู้ป่วยลงไป เพราะบุคลากรหน้างานอยู่ในภาวะตึง หากดำเนินการไปด้วยกันจะช่วยได้มาก

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า 5 มาตรการดังกล่าว หย่อนลงไปบ้าง ทั้งในส่วนประชาชนและเจ้าหน้าที่ จึงต้องไปทบทวนว่าประชาชนดูแลตัวเองได้ดีจริงหรือไม่ หรืออาจต้องขั้นใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่บ้าน ส่วนเรื่องวัคซีนก็ต้องทบทวนให้ดี ต้องดูเรื่องกันหนักและกันตายว่าใครจำเป็นก่อน พร้อมฝากข้อคิด 3 คือ สติ : ตั้งสติ, สื่อสาร : ด้วยความจริง โปร่งใส และ สามัคคี : เห็นต่างได้แต่เมื่อได้มติออกมา ต้องปฏิบัติตามและเดินหน้าไปพร้อมกันด้วยความสามัคคี ประเทศจะไปรอด เพราะโควิด-19 เป็นเชื้อแปลกที่ทำลายล้างทุกทฤษฎี ที่มองว่าการฉีดวัคซีนจะหายแต่กลับพบเชื้อกลายพันธุ์ ดังนั้น การร่วมมือกันสำคัญที่สุด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"