X

36 คนแล้ว ติด ‘โควิดสายพันธุ์อินเดีย’ แคมป์คนงานก่อสร้าง-ชุมชน ยืนยันแอสตราฯ ครอบคลุม

กรุงเทพฯ – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผลตรวจเชื้อโควิด-19 แคมป์คนงานก่อสร้างและชุมชนย่านหลักสี่ 80 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์อินเดีย 36 คน เป็นคนไทย 21 คน ต่างด้าว 15 คน นอกนั้นเป็นสายพันธุ์อังกฤษ  ด้านกรมควบคุมโรค เผยข้อมูลอังกฤษ ‘วัคซีนแอสตราเซเนกา’ ครอบคลุมสายพันธุ์อินเดีย

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมได้ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่ส่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 80 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) จำนวน 36 คน เป็นคนไทย 21 คน คนงานชาวพม่า 10 คน และกัมพูชา 5 คน ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7)  อย่างไรก็ตาม ใน 36 ตัวอย่างนี้ เป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากชุมชนด้วย ก็เท่ากับว่ามีการพบเชื้อในชุมชนแล้ว ตอนนี้กำลังเก็บตัวอย่างในชุมชนย่านหลักสี่ เข้ามาตรวจเพิ่มเติม ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ ที่ส่งเข้ามา เช่น สะพานสูง และคลองเตย ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกัน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในประเทศไทย เชื้อที่พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ 87% เพิ่งตรวจพบสายพันธุ์อินเดีย และจะได้ขยายการนำตัวอย่างจากคลัสเตอร์อื่น ๆ มาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการกระจายตัวต่อไป อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Public Health England พบว่า สายพันธุ์อินเดียมีการแพร่กระจายได้ค่อนข้างรวดเร็ว คล้ายกับสายพันธุ์อังกฤษ แต่ยังไม่พบหลักฐานที่มีผลต่อความรุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิต และยังตอบสนองต่อวัคซีนได้อยู่ จึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป ส่วนในต่างจังหวัด รวมถึงจังหวัดชายแดน จากการถอดรหัสพันธุกรรมยังไม่พบสายพันธุ์อินเดีย แต่เก็บตัวอย่างกว่า 300 ตัวอย่างมาตรวจเพิ่มแล้ว


ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรค เผย ข้อมูลจากอังกฤษ พบ ‘วัคซีนแอสตราเซเนกา’ ครอบคลุมสายพันธุ์อินเดีย ส่วนซิโนแวค น่าจะยังมีประสิทธิภาพป้องกันได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าเชื้อไวรัสโควิดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อู่ฮั่น จนขณะนี้มีหลายสายพันธุ์ แต่ที่ให้ความสนใจ คือ 1.กลายพันธุ์แล้วมีการแพร่ระบาดง่ายขึ้น 2.กลายพันธุ์แล้วทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือง่ายขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น และ 3.กลายพันธุ์แล้วทำให้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพหรือป้องกันโรคไม่ดี โดยสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามอง คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วนสายพันธุ์สิงคโปร์นั้น ประเทศสิงคโปร์ปฏิเสธไปแล้ว

สายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ  สำหรับสายพันธุ์อินเดีย ขณะนี้ระบาดมากในอินเดีย และพบในหลายประเทศ โดยอังกฤษถอดรหัสพันธุกรรมได้ รอบบ้านของไทยคือมาเลเซีย ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ เราพบเชื้อสายพันธุ์อินเดียครั้งแรกเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ในผู้เดินทางมาจากปากีสถาน ซึ่งจะต้องนำมาถอดรหัสพันธุกรรม แล้วนำไปเทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่พบในประเทศอื่น ๆ จึงจะรู้ว่าต้นตอหรือเชื้อหลุดรอดเข้ามาได้อย่างไร จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สายพันธุ์อินเดียเรื่องการแพร่กระจายโรคไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ สำหรับความรุนแรงของโรคไม่มีข้อบ่งชี้ว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนการไม่ตอบสนองวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีนนั้น พบว่าสายพันธุ์อินเดียไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนหลักที่เราจะใช้ คือ วัคซีนแอสตราเซเนกา ตัวอย่างที่เห็นอย่างดี คือ อังกฤษใช้แอสตราฯ เป็นหลัก พบว่าการระบาดของเขาลดน้อยลง ทั้งที่มีทั้งสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษอยู่จำนวนมาก ส่วนวัคซีนซิโนแวค จากข้อมูลของซิโนแวคเอง และจากที่เรารวบรวมเทียบเคียงกับหลายประเทศ พบว่าน่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อินเดีย แต่ต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ กทม. ศบค.สั่งการให้ตรวจค้นหาในแคมป์คนงานทุกแห่ง กระทรวงสาธารณสุขเองก็สั่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆ ให้ประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อตามแคมป์คนงาน ตลาด และโรงงานงานต่าง ๆ ด้วย ด้านยารักษาโรค ยังเป็นไปตามแนวทางเดิม คือ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่มีแนวทางในการให้ยาเร็วขึ้นในกลุ่มเสี่ยงที่เกิดอาการรุนแรง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :     

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"