X

‘อนุทิน’ ชี้ คนติดโควิดปกปิดข้อมูล ต้องเอาผิด! ตามกฎหมาย

นนทบุรี – นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยืนยัน การสอบสวนโรคเพื่อป้องกันการระบาด ไม่มีเจตนาร้าย ถ้ายืนยันให้ข้อมูลแล้ว แต่ไทม์ไลน์ไม่ตรงกัน ขอให้ชี้แจง เจ้าหน้าที่บิดเบือนข้อมูลอย่างไร

วันที่ 28 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับงานเลี้ยง ในกรุงเทพมหานคร บอกว่า ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ทั้งหมดแล้ว แต่ไทม์ไลน์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะไม่ตรงกับที่ให้ไว้ ออกมาชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่บิดเบือนข้อมูลอย่างไร ถ้าบิดเบือนจริงก็มีความผิด วัตถุประสงค์การสอบสวนโรค ก็เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ไม่มีเจตนาประสงค์ร้ายต่อผู้ให้ข้อมูล จึงควรให้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย ว่าไปสัมผัสใคร ไปที่ไหน อย่างไร

รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า วานนี้ (27 ม.ค.) ได้แจ้งให้กรมควบคุมโรค ออกหนังสือไปยัง สำนักการอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการตามกฎหมายกำหนด เพื่อดูว่ามีความผิดอย่างไร ละเมิดประกาศของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) หรือไม่ ซึ่งมีหลายประเด็น ผู้ดำเนินการจะเป็นเจ้าพนักงานของกรุงเทพมหานคร หากไม่เร่งดำเนินการ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เจ้าพนักงานมีหน้าที่สอบสวนให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายวงกว้าง ทุกอย่างทำเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือมากที่สุด และไม่กลัวว่า การเอาผิดจะส่งผลให้มีการปกปิดข้อมูลมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่มีวิธีสอบสวน ปกปิดไม่ได้ และถ้าปกปิดข้อมูล จะเข้าข่ายความผิด ฐานไม่ให้ความร่วมมือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น และขอให้ความมั่นใจว่า ข้อมูลที่ได้มา คนที่สอบสวนโรคจะไม่นำไปใช้เพื่อความสนุกสนาม ส่วนโรงแรงบันยันทรีจะมีความผิดหรือไม่ ต้องดูว่าให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ เปิดบริการเกินเวลา 21.00 น. อนุญาตให้คนเข้ามาชุมนุมอย่างใกล้ชิดจำนวนมากหรือไม่ แต่ภาพจะอธิบายพฤติกรรมได้

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ชี้แจง กรณีผู้ติดเชื้อแจ้งว่า ได้ให้ข้อมูลไปหมดแล้ว แต่ไม่ทราบว่าไทม์ไลน์ออกมาเช่นนั้นได้อย่างไรนั้น ผู้ติดเชื้ออาจจะเข้าใจว่าได้ให้ข้อมูลกับพยาบาลคนแรก ที่สอบสวนเบื้องต้นแล้ว แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ การสอบสวนโรคคือการสัมภาษณ์ ซึ่งไม่ใช่สัมภาษณ์แค่ครั้งเดียวแล้วจบ ยิ่งลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ยิ่งต้องสอบสวนมาก จะมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ทั้งสำนักการอนามัย สปคม. กรมควบคุมโรค ไปสอบถามแล้วนำข้อมูลมารวม กันเพื่อดูว่าให้ข้อมูลตรงกันหรือไม่ เชื่อมต่อกันได้หรือไม่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"