X

สธ. โต้ ‘ธนาธร’ แจง จัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้า ยึดหลักปลอดภัย ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ มีศักยภาพสูง

นนทบุรี – สาธารณสุข-ผอ.วัคซีนแห่งชาติ แถลงโต้ หลัง ‘ธนาธร’ วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ยืนยันไม่ล่าช้า แต่รอบคอบ ยึดหลักปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง เจรจากับผู้ผลิตหลายบริษัท แอสตราเซเนกาเป็นผู้เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ เพราะมีศักยภาพสูง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ขอคนวิจารณ์ศึกษาข้อมูลรอบด้าน

วันที่ 19 มกราคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำแถลงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายหลัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า วิพากย์วิจารณ์ว่าล่าช้า ไม่เพียงพอ รวมถึงข้อตกลงในการผลิตวัคซีนระหว่าง บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยโยงถึงสถาบันเบื้องสูง ทำให้เกิดข้อสงสัยและความเข้าใจคลาดเคลื่อน

โดย นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อการแพทย์และการสาธารณสุข ทรงวางรากฐานและการพัฒนา รวมถึงพระราชทานพระราชทรัพย์ เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้าง เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุม

ส่วนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาตลอด มีข้อมูล มีหลักฐานชัดเจน ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือล่าช้า มีการเจรจากับหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน ยึดหลักคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาไม่แพง ต้องครอบคลุมประชาชน ไม่ได้ติดต่อเพียง 1-2 บริษัท อย่างที่ถูกกล่าวหา

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชี้แจงว่า การสั่งจองวัคซีนของไทยใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่การจัดซื้อวัคซีนทั่วไป และไม่ได้พิจารณาตามชื่อบริษัท อย่างกรณีของ บริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ได้จองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทย ซึ่งต้องหาบริษัทที่จะมารับถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต้องมีความพร้อมที่สุด มีความสามารถที่สุด

“บริษัทแอสตราเซเนกา เป็นผู้คัดเลือก โดยได้ทบทวนบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เจ้าเดียว โดยพบว่ามีเพียงสยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในรูปแบบของ Viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่จะเลือกบริษัทเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมเอง ศักยภาพก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม คนที่จะมาสอนก็ต้องไม่เสียเวลามากเกินจนไปเพราะมีความเร่งด่วน ขณะเดียวกัน แอสตราเองก็มีนโยบายขยายฐานกำลังการผลิตไปทั่วโลก และต้องการกำลังการผลิตจำนวนมากระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป หลังพิจารณาจึงเข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ต้องการ” นพ.นคร กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงอีกว่า หลายประเทศอยากได้ทำนองนี้ พยายามจะแข่งให้ได้รับคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของ ‘ทีมประเทศไทย’ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนฯ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เครือ SCG ได้เจรจาและแสดงศักยภาพให้เห็น รัฐบาลเองก็แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน พัฒนาศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท ร่วมกับ SCG อีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือต่าง ๆ พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะและได้รับคัดเลือกจากแอสตราเซเนกา

“นี่เป็นความพยายามที่ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน นึกอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เราต้องมีพื้นที่ฐานเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ และทรงวางแนวทางว่า บริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล รายได้หรือผลกำไรในแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นการขาดทุน เพื่อประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิต ลดการนำเข้ามูลค่ามากกว่าส่วนที่ขาดทุน คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่มีการขาดทุน แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นตามหลักปรัชญาที่ รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้และทำมาต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้ทำไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดสเช่นนี้ และรัฐบาลยังให้เจรจาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ การที่สยามไบโอไซเอนซ์ มาเข้าร่วมผลิตวัคซีน ต้องสรรเสริญ เพราะต้องหยุดผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีข้อมูลไม่ครบ ควรต้องใช้ความสามารถตรวจสอบข้อมูลมากกว่านี้ ไม่ใช้ข้อมูลด้านเดียว หรือนึกคิดเอาเองตามประสบการณ์เดิม ๆ” นพ.นคร กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ประเทศแรกที่ใช้วัคซีน เริ่มมีรายงานการเจ็บป่วยจากวัคซีน สะท้อนเรื่องความปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ การรีบร้อนไม่ใช้ข้อมูลศึกษาให้ดี เร่งอยากใช้อาจเกิดผลเสีย ประเทศไทยจึงพยายามขอข้อมูลผู้ผลิตต่าง ๆ เพื่อได้ข้อมูลชัดเจน เรื่องคุณภาพประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำงบประมาณ 600 ล้านบาทที่ได้รับ เป็นทุนพัฒนาศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์เพิ่มเติม โดยสยามไบโอไซเอนซ์ เสนอให้ระบุว่า “เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วตามมาตรฐานของแอสตราเซเนกา จะคืนทุนให้เป็นวัคซีนในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับทุน” เพื่อลบข้อสงสัยสนับสนุนบริษัทเอกชน ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่คลาดเคลื่อนและเลื่อนลอย ควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปเชื่อมโยงกับสถาบันที่พวกเราเคารพรัก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"