X

‘มนุษย์กบ’ ผู้ดูแลรักษาความมั่นคงพลังงานไทยใต้น้ำลึก

การผลิต ส่ง และการจัดหามาซึ่งพลังงานไฟฟ้า ให้เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. สำหรับการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่ตลอด ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เพราะไม่เพียงแต่ดูแลอุปกรณ์ภายในโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลอุปกรณ์ที่อยู่ใต้น้ำด้วย

เมื่อมีอุปกรณ์โรงไฟฟ้าที่อยู่ใต้น้ำที่ต้องบำรุงรักษา จึงจำเป็นที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  ดังนั้น กฟผ. จึงได้ฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานที่มีทั้งทักษะด้าน ‘ช่าง’ และการ ‘ดำน้ำ’ ไปพร้อมๆ กัน ภายใต้บทบาทที่เรียกว่า ‘นักประดาน้ำ’ หรือ ‘มนุษย์กบ’ เพื่อคอยดูแลรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไทย

ภารกิจของทีมนักประดาน้ำของ กฟผ. คือ การบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา  รวมถึงเกิดความปลอดภัยต่อเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงาน โดย กฟผ. ได้เพิ่มศักยภาพด้านการเชื่อมไฟฟ้าใต้น้ำให้กับนักประดาน้ำ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่จะช่วยบำรุงรักษาอุปกรณ์โรงไฟฟ้าที่อยู่ใต้น้ำ ในกรณีที่เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถยกอุปกรณ์ขึ้นมาซ่อมแซมบนบกได้ ภารกิจของนักประดาน้ำนั้น ต้องดำน้ำลงไปถึงระดับลึกกว่า 50 เมตร เพื่อปฏิบัติการบำรุงรักษาใต้น้ำ ในสภาพน้ำที่ขุ่นมัวและค่อนข้างมืด จนแทบมองไม่เห็นอะไรเลย อีกทั้งยังต้องเผชิญอุณหภูมิน้ำที่มีความหนาวเย็นและมีเวลาในการทำงานจำกัด นักประดาน้ำเหล่านี้ จึงต้องมีความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งยังต้องฝึกดำน้ำจนเกิดความชำนาญสูง

นายชัยวัฒน์ แสงฟ้า หัวหน้าครูฝึกประดาน้ำ เล่าให้ฟังว่า กฟผ. ต้องสรรหาและฝึกอบรมนักประดาน้ำ ให้มีความสามารถด้านการเชื่อมไฟฟ้าใต้น้ำ เพื่อคอยปฏิบัติภารกิจในกรณีเร่งด่วน หรือเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถนำอุปกรณ์ขึ้นมาบำรุงรักษาบนบกได้ ให้มีประจำไว้อยู่ในทุกเขื่อนและโรงไฟฟ้าทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้าให้มากที่สุดด้วย

“การจะเพิ่มเติมทักษะเชื่อมใต้น้ำให้กับนักประดาน้ำ กฟผ. ได้นั้น ต้องใช้เวลาฝึกกว่า 2 สัปดาห์ เพื่ออบรบและฝึกฝน โดยผู้ที่ผ่านการเป็นนักประดาน้ำมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีเท่านั้น จึงจะสามารถเข้ารับการฝึกได้ โดยนักประดาน้ำจะได้รับการฝึกจากครู ซึ่งเป็นนักประดาน้ำรุ่นพี่ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านงานประดาน้ำมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และก่อนที่นักประดาน้ำทุกคนจะเข้ารับการฝึกเชื่อมไฟฟ้าใต้น้ำ ต้องฝึกความแข็งแรงของร่างกาย ด้วยการวิ่ง ออกกำลังกายในทุกวัน รวมถึงก่อนลงฝึกประดาน้ำทุกครั้ง จะต้องมีการตรวจร่างกาย วัดความดัน วัดชีพจรอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่านักประดาน้ำทุกคนมีความพร้อมทางด้านร่างกายอย่างแท้จริง”

การฝึกเชื่อมไฟฟ้าใต้น้ำ จะประกอบไปด้วย การอบรมภาคทฤษฎี 6 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 48 ชั่วโมง จะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องกฎความปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ ขั้นตอนและวิธีการเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำด้วยไฟฟ้า หลังจากนั้นจะได้รับการฝึกเชื่อมใต้น้ำภาคปฏิบัติ การเชื่อมด้วยท่าราบ ท่าตั้ง และท่าเหนือศรีษะ แต่ละท่ามีความยากและท้าทายมาก ยิ่งไปกว่านั้นการเชื่อมใต้น้ำ ยังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะต้องอาศัยคู่บัดดี้ที่รู้ใจ คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องรับ-ส่งสัญญาณให้กับทีมงานซึ่งอยู่ด้านบนที่จะทำหน้าที่ควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีความอันตรายสูง ทีมงานทุกคนจึงคอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้กำลังปฏิบัติงานอยู่ใต้น้ำอย่างไม่ละสายตา


การฝึกภาคปฏิบัติ จำเป็นต้องฝึกฝนจนกว่าจะชำนาญ จนถึงช่วงสุดท้ายของการฝึก คือ การทดสอบการเชื่อมใต้น้ำ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติและได้รับใบประกาศนียบัตรไปได้ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมาจะมีผู้ผ่านการทดสอบแค่เพียงครึ่งหนึ่งของผู้เข้ารับการฝึกเท่านั้น แต่หากผ่านการทดสอบไปได้ จะเป็นใบเบิกทางที่ช่วยให้สามารถเลื่อนขึ้นเป็นนักประดาน้ำระดับ 2 เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่การเป็นหัวหน้านักประดาน้ำระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดได้ในอนาคต

แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากและมีความเสี่ยงสูง แต่ทีมนักประดาน้ำช่างของ กฟผ. ก็ยังมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักประดาน้ำที่มีศักยภาพด้านการเชื่อมใต้น้ำ และเป็นกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภารกิจผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนทุกบ้านทุกครัวเรือน มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"