X

จุรินทร์ ชี้ ‘สคช.’ เป็นหมากสำคัญในการรับรองแรงงาน ช่วยสร้างโอกาสให้คนในอาชีพ

รองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เยี่ยมชมบูธ ‘สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ’ ในงาน Smart SME EXPO 2020 ครั้งที่ 6 ชี้ เป็นสถาบันฯ สำคัญ ยังประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคน

นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมงาน Smart SME EXPO 2020 ครั้งที่ 6 ณ ฮอลล์ 9-10 อิมแพ็คเมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานรวมตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 300 ราย มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมทั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการเข้าถึงตลาด เข้าถึงเงินทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ และขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
ภายหลังเปิดงาน นายจุรินทร์ ได้เดินชมนิทรรศการตามจุดต่าง ๆ และให้ความสนใจกับการทำงานของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นพิเศษ พร้อมซักถามแนวทางการทำงานจาก นางสาววรชนาธิป ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์การประเมินสมรรถนะ การเทียบเคียงการศึกษา พร้อมย้ำว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นสถาบันฯ สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคน

“การศึกษาในระบบก็ต้องเรียน เรียนเฉพาะทาง แต่มีอีกระบบที่เราอาจไม่ได้เรียนในระบบ ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แต่เราอาจจะเก่งกว่าคนที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย เพราะเราเป็นผู้ที่อยู่ในภาคปฏิบัติจริง และเรามีสมรรถภาพจริงเก่งกว่าคนที่เรียนมาอย่างเดียว แล้วก็ขาดทักษะทางด้านปฏิบัติ เช่น เราเจียระไนพลอยเราอาจจะเก่งกว่าคนที่จบด็อกเตอร์แล้วมาเจียระไนพลอย หรืออย่างเชฟ ที่ทำอาหาร ก็เก่งกว่า คนจบด็อกเตอร์ ด้านคหกรรม ฉะนั้นจึงได้มีสถาบันฯ หนึ่งที่มีความสำคัญ คือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบ ทดสอบสมรรถนะ ว่าเก่งขั้น 1 หรือขั้น 2 สูงสุดคือ 8 แล้วให้การรับรอง ซึ่งเราสามารถใช้ใบรับรองเป็นใบเบิกทาง ในการเพิ่มเงินเดือน เพิ่มรายได้ สร้างโอกาสให้ตัวเองได้ ซึ่งไม่ใช่การศึกษาในระบบ และไม่ใช่นอกระบบ แต่เป็นระบบพิเศษ ที่หลายประเทศทั่วโลกก็ทำกัน มีการเทียบ 8 ขั้น” นายจุรินทร์ กล่าวนายจุรินทร์ ยังระบุว่าเอสเอ็มอี มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ มีผู้ประกอบการรวมกันมากกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน กระจายรายได้ และเป็นภาคการผลิตที่สำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งพัฒนาตนเองไปเป็นภาคการส่งออกที่มีความสำคัญในอนาคต ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถ้าเราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ก็จะทำให้เกิดการเติบโต และพัฒนาฐานรากเศรษฐกิจของประเทศได้ ทุกภาคส่วนจึงต้องทำให้เอสเอ็มอี เป็นภาคการผลิตที่มีศักยภาพ ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพด้านการตลาดต่อไปด้วย โดยใช้ยุทธศาสตร์สำคัญคือใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อผลิตแล้วทำให้มีคนซื้อ

ด้านนางสาววรชนาธิป ย้ำว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยนำเสนอภารกิจและบทบาทที่สำคัญ เป็นกลไกขับเคลื่อนระบบคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศ ส่งเสริมสมรรถนะแรงงานไทยให้ได้มาตรฐาน สร้างความเป็นมืออาชีพ มุ่งมั่นสนับสนุนกำลังคนให้สามารถพัฒนาและต่อยอดการพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการเจ้าของกิจการรายย่อย ด้วยแนวคิด “สร้างความเป็นมืออาชีพให้กับคนไทย: From Professional to SME”

รวมถึงการต่อยอดธุรกิจด้วยสินเชื่อ ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การทำธุรกิจภายใต้ยุค New Normal อย่างกิจกรรมเสริมทักษะการทำธุรกิจด้วย E-Commerce และในงาน สถาบันฯ ยังพร้อมให้บริการ “โค้ชอาชีพ” ช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ ตามมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"