X

ขุมพลังงานขับเคลื่อน ‘รถไฟชานเมืองสายสีแดง’ การเดินทางเส้นใหม่ใจกลางมหานคร

การแก้ไขปัญหาจราจร ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นความท้าทายของทุกหน่วยงานภาครัฐ หนึ่งในแนวทางบรรเทาปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยเฉพาะโครงการระบบรถไฟชานเมือง ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชน ระหว่างย่านใจกลางเมืองและชานเมืองให้สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน รวมทั้งขยายความเจริญไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดความแออัดการจราจรในกรุงเทพมหานครได้อย่างดี

สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทาง ของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย  รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เส้นทางบางซื่อ-รังสิต ถือเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วน ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จ ตามแผนที่กำหนดไว้  ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ

สายสีแดงเข้ม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-มหาชัย)  สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก)  และแอร์พอต เรล ลิงค์ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) ซึ่งมีระบบการขับเคลื่อนรถไฟ ด้วยระบบไฟฟ้ากำลัง จึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงประสานความร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อร่วมกันจัดหาพลังงานไฟฟ้าส่งจ่ายให้โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อได้อย่างมั่นคงเพียงพอ

สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ใจกลางมหานคร
กฟผ. ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร (สฟ.จตุจักร) ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ (Gas Insulated Substation : GIS) ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV) ภายใต้การดำเนินงานของโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 ก่อสร้างภายในที่ดินเช่า แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายของ รฟท. พื้นที่รวม 8.62 ไร่ โดยรับไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 kV ลาดพร้าว–พระนครเหนือ และ 230 kV ลาดพร้าว–แจ้งวัฒนะ โดยจะตัดและเชื่อมต่อกันที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักรแห่งใหม่นี้

จากนั้น ส่งไฟฟ้าให้แก่สถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟน. เพื่อปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าลง เพื่อส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ รฟท. ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้แก่ กฟน. ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563

สฟ.จตุจักร จะกลายเป็นสถานีส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่แหล่งใหม่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเดินทางของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทั้งสามสายและหล่อเลี้ยงไฟฟ้าให้แก่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีความ สำคัญต่อการพัฒนาของประเทศในอนาคต

การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่รวดเร็วของประชาชน คือ หนึ่งภารกิจหลัก ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมมือกันพัฒนา และอำนวยความสะดวกให้การเดินทางในทุกเส้นทางมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการขนส่งมวลชนทางราง ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศ รวมทั้งบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

รถไฟชานเมืองสายสีแดง จะกลายเป็นเส้นทางการเดินทางหลักย่านใจกลางเมืองสู่ชานเมืองสายสำคัญ ซึ่ง รฟท. ร่วมกับ กฟน. และ กฟผ. มุ่งมั่นจัดหาแหล่งพลังงานที่มีความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้และทันสมัย เพื่อส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อขับเคลื่อนความสุขของคนไทย ทำให้ทุกวันแห่งการเดินทางมีแต่รอยยิ้มที่เกิดจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป

“กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย”

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"