X

94 เมตร!!! ‘บำรุงรักษากังหันลม’ ภารกิจที่ไม่ธรรมดา ของมนุษย์ธรรมดา

เบื้องหลังการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ผ่านการสะสมประสบการณ์มานับสิบปี เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ดูแลงานเดินเครื่องผลิต และ ส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า สร้างความสุขให้กับประชาชนชาวไทย แต่กระบวนการเหล่านี้จะสำเร็จด้วยดีไม่ได้ หากขาดกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง และเป็นแรงสนับสนุนหลักเฉกเช่น ผู้ปฏิบัติการซ่อมและบำรุงรักษากังหันลมที่ดูแลกังหันลมให้มีความพร้อม เพื่อรักษาความมั่นคงระบบผลิตไฟฟ้า

ถึงแม้ไม่ใช่ซูเปอร์แมน หรือ ฮีโร่ทรงพลัง ดั่งเช่นในภาพยนตร์ แต่มนุษย์ธรรมดาที่ต้องปฏิบัติงานบนที่สูงเสียดฟ้า เช่น กังหันลมบนที่ราบสูงของจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้สภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อมุ่งมั่นในการซ่อมและบำรุงรักษากังหันลม แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มีความพร้อมจ่ายอยู่ตลอดเวลา เสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย กลับมีความสามารถไม่ต่างอะไรกับฮีโร่ทรงพลัง

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แม้จะไม่มีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนเหมือนโรงไฟฟ้าพลังความร้อน แต่ภารกิจซ่อมและบำรุงรักษากังหันลมก็มีความท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การซ่อมและบำรุงรักษากังหันลมของ กฟผ. จึงประกอบไปด้วย ทีมด้านไฟฟ้า จากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และทีมด้านเครื่องกล จากฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) ปฏิบัติงานบำรุงรักษาตามวาระร่วมกันปีละ 2 ครั้ง เช่น การตรวจสอบระบบควบคุมกำลังการผลิต ระบบขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าของกังหันลม ระบบการควบคุมใบกังหันลมและโครงสร้าง เป็นต้น ซึ่งต้องมีการวางแผนงานล่วงหน้าก่อนเข้าบำรุงรักษา เพื่อให้กังหันลมมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ไม่ติดขัด

 

 

แต่กว่าที่มนุษย์ธรรมดาหนึ่งคน จะสามารถปฏิบัติภารกิจซ่อมบำรุงกังหันลมที่สูงเสียดฟ้าได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีทักษะด้านการซ่อมบำรุงรักษาเฉพาะทางแล้ว ยังต้องผ่านการอบรมการปฏิบัติงานบนกังหันลม การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงการตรวจเช็คสภาพร่างกายและสภาพจิตใจให้มีความพร้อมก่อนที่จะขึ้นปฏิบัติภารกิจทุกครั้ง และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมภาคพื้นดินที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบและทีมบำรุงรักษากังหันลมในแต่ละส่วน ซึ่งต้องช่วยเหลือกันและกันระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดเดาได้

การขึ้นปฏิบัติงานบนกังหันลมบนความสูงเสียดฟ้าถึง 94 เมตร ไม่ใช่ว่าจะสามารถขึ้นเวลาใดก็ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดความปลอดภัยบนกังหันลม ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษากังหันลมต้องสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงและตรวจเช็คความเรียบร้อย สภาพอากาศ สภาพฝน ฟ้าผ่า อีกทั้งความแรงลมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หรือ ไม่เกิน 12 เมตร/วินาที แต่หากผู้ปฏิบัติงานพบว่า เกิดฝนตก ลมแรงหรือมีฟ้าผ่าในระยะต่ำกว่า 200 กิโลเมตร/ชม. ทีมต้องยุติภารกิจบำรุงรักษาและลงจากกังหันลมทันที

ในขณะที่ขึ้นปฏิบัติภารกิจด้านบนกังหันลม ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยต้องมีสมาธิในขณะปฏิบัติงาน และติดตั้งชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงไว้ตามจุดยึดเกาะที่มีอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานและความเสี่ยงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการปฏิบัติงาน มักต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการบำรุงรักษา การนำเครื่องมือขนาดใหญ่ขึ้นที่สูงและแคบ จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันทีมปฏิบัติงานภาคพื้นดินต้องทำหน้าที่เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของแผนงานที่ได้วางไว้ก่อนขึ้นทำการบำรุงรักษา รวมถึงติดตามสภาพอากาศ สภาพฝนและลม จนกว่าทีมงานบนกังหันลมจะปฏิบัติงานจนแล้วเสร็จ เพื่อดูแลความปลอดภัยและลดความเสี่ยงระหว่างการปฏิบัติงานให้ทีมงาน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหนึ่งในภารกิจการบำรุงรักษากังหันลม พลังงานหมุนเวียนที่เข้ามามีบทบาทสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ที่ทั้งสูง ทั้งเสียว และเสี่ยง ถือเป็นภารกิจที่ไม่ธรรมดา ของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งแม้ภารกิจที่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เผชิญ จะมีความท้าทายหรือยากเพียงใด แต่เพื่อสร้างพลังงาน แสงสว่าง และความสุขให้กับคนไทย กฟผ. พร้อมมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับทุกภารกิจเพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความสุขให้คนไทย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"