X

เนืองแน่น! ชาวสุราษฎร์ฯ แสดงพลังร่วมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2

กฟผ. – ซีคอท ชื่นชมพร้อมขอบคุณชาวสุราษฎร์ธานี ที่พร้อมใจแสดงพลังการมีส่วนร่วม ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 3 และ 4 สิงหาคม 2563 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย บริษัท ซีคอท จำกัด จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 – 2

โดยมี นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายสิทธิชัย ไทยเจริญ นายอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมงาน มีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 1,127 คน และมีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา 19 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ อำเภอพุนพิน 6 ตำบล ได้แก่ ต.พุนพิน ท่าข้าม หนองไทร ท่าโรงช้าง เขาหัวควาย และ ต.ท่าสะท้อน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี 1 ตำบล คือ ต.คลองน้อย รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป ณ ศูนย์การประชุม และแสดงสินค้านานาชาติ อุบลรัตนราชกัญญา สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โค-ออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

นายจเร ขวัญเกิด ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ยินดีที่ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้มาร่วมรับฟังผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ในแต่ละด้าน และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำโครงการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ถือเป็นเมืองหลักของภาคใต้ มีอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพงัน และเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 จึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้จังหวัดและประเทศ

ด้านนายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับรายละเอียดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการ ให้ครอบคลุมครบถ้วน เพิ่มเติมจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจทัศนคติและความคิดเห็น จากทั้งหน่วยงานและประชาชนในระดับครัวเรือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 สำหรับสิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล อาทิ การดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเปิดโอกาสให้เยาวชนและชุมชนท้องถิ่นเข้าทำงานในโรงไฟฟ้า การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การส่งเสริมให้โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านพลังงาน การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจากงบประมาณกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้านั้น ทุกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งบริษัทฯ จะนำไปปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 – 2 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป

ส่วนนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุม ที่สละเวลามาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญศของการศึกษาโครงการฯ ทุกความคิดเห็น ทุกข้อเสนอแนะ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการฯ ซึ่ง กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา จะนำไปจัดทำรายงานให้ครบถ้วนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่

โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และ 2 เป็นโรงไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของภาคใต้โดยเฉพาะ ฝั่งอันดามันที่ยังขาดโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ พร้อมรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคใต้ ซึ่ง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ โดยจะก่อสร้างบนพื้นที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเดิม ซึ่งปัจจุบันหยุดดำเนินการแล้วเนื่องจากหมดอายุการใช้งาน และยังเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงช่วยลดการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า ไม่เพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โครงการฯ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุดประมาณ 1,660 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง

มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ชุดที่ 1 ในปี 2570 และชุดที่ 2 ในปี 2572 ตามลำดับ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่จะช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับท้องถิ่น ตลอดจนได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อนำไป พัฒนาชุมชนอีกด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นได้ที่ งานประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กฟผ. โทรศัพท์ 077-242538 ต่อ 4249 โทรสาร 077-242537 หรือ นางสาวจันทิมา ยะนิล และนางสาวณัชชาวีร์ ชูดวงแก้ว บริษัท ซีคอท จำกัด เลขที่ 239 ถนนริมคลองประปา แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทรศัพท์ 0-2959-3600 ต่อ 410, 412-413 โทรสาร 0-2959-3535 หรือ E-mail: [email protected]

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"